ชาวทางด่วนต้องรู้ “กทพ.” เรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชี Easy Pass เริ่มปี 66

25 ก.ย. 2565 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2565 | 19:58 น.
818

“กทพ.” เปิดสาเหตุเตรียมเก็บเงินค่ารักษาบัญชี Easy Pass 25 บาทต่อเดือน เริ่มปี 66 เผยยอดผู้ใช้บริการไม่มีความเคลื่อนไหวนาน 1 ปี แตะ 5.4 แสนใบ กระทบต้นทุนการใช้บัตรพุ่งต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ที่จะเริ่มเก็บในปีหน้า โดยเฉพาะบัตร Easy Pass ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือใช้งานเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ซึ่งมีประมาณ 546,000 บัตร คิดเป็น 25 % ของผู้ใช้ Easy Pass ทั้งหมดที่มีมากกว่า 2.15 ล้านบัตรและในบัตรจำนวน 546,000 ที่ไม่เคลื่อนไหวนั้นมีถึง 441,556 บัตร ที่ไม่เคลื่อนไหวมากกว่า 2 ปี นับจำนวนสูงถึง 81% ( ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2565 )

 

 

 

ขณะเดียวกัน กทพ. ได้เปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ และส่งมอบบัตร Easy Pass พร้อมอุปกรณ์ให้ผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันบัตรในการสมัครใช้บริการ โดย กทพ. รับภาระต้นทุนค่าอุปกรณ์บัตร Easy Pass มาตั้งแต่ ปี 2555 และ ได้คืนค่าประกันให้ผู้ใช้ Easy Pass ไปเป็นที่เรียบร้อยและมีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่งที่ไม่นำบัตร Easy Pass ไปใช้ผ่านทางพิเศษหรือหยุดการใช้งานต่อเนื่องกัน  เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี และไม่มีการติดต่อเพื่อยกเลิกการใช้งานบัตร Easy Pass ส่งผลให้ กทพ. มีต้นทุนในการจัดหาบัตร Easy Pass เพิ่มสูงขึ้นและเกิดค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแลรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษ ในบัตร Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว 
 

ทั้งนี้กทพ.จึงมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass โดยผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติที่ไม่มีการใช้งานเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนี้ใช้บังคับ ( 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ) ต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ในอัตราเดือนละ 25 บาท หรือไม่เกินมูลค่าคงเหลือในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass 

ชาวทางด่วนต้องรู้ “กทพ.” เรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชี Easy Pass เริ่มปี 66

รายงานจากกทพ. กล่าวต่อว่า กทพ. จะทำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass โดยหักเงินในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ทุกเดือน โดยเมื่อจำนวนเงินในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ของผู้ใช้บริการถูกหักค่าธรรมเนียมจนไม่มีจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass บัญชีดังกล่าวของผู้ใช้บริการจะถูกปิดและยุติการใช้งานบัตร Easy Pass ทันที (โดยมีจำนวนผู้ใช้ Easy Pass ที่มียอดเงินต่ำกว่า 300 บาท จำนวน 398,716 บัตร คิดเป็น 73 % ของกลุ่มที่ไม่เคลื่อนไหวมากกว่า 1 ปี) โดยมาตรการนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบ M-Flow มากยิ่งขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม กทพ. แนะนำให้ผู้ใช้บัตร Easy Pass ขึ้นใช้ทางพิเศษ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าดูแลบัญชี และขอเชิญชวนผู้ใช้ทางพิเศษอัปเดตบัตร Easy Pass เดิม ให้เป็น Easy Pass Plus (+) เพื่อให้สามารถใช้ได้ทั้งระบบ M -Flow และ Easy Pass ได้ อีกทั้งยังได้ลุ้นโอกาสขึ้นทางด่วนฟรี 3 ปี อีกด้วย