เปิดแล้ว “ทล.” ขยายถนนสายชุมพร – ระนอง 4 เลน เชื่อมด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

21 ก.ย. 2565 | 14:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 21:29 น.
884

“ทล.” ขยายถนนทล.4 สาย ชุมพร – ระนอง 4 เลน วงเงิน 847 ล้านบาท หนุนเส้นทางชุมพร – ระนอง รองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก เชื่อมด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 4 สาย ชุมพร – ระนอง ตอน บ.ทรายแดง – บ.บางนอน จ.ระนอง ระยะทางประมาณ 17.75 กิโลเมตร วงเงิน 847 ล้านบาท เชื่อมด่านไทย-มาเลเซียจากขนาด 2 ช่องจราจร เป็นขนาด 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จ เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินสายหลัก เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) 

 

 

 

สำหรับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) สายชุมพร – ระนอง ตอน บ.ทรายแดง – บ.บางนอน เป็นส่วนหนึ่งของถนนเพชรเกษม ซึ่งทางหลวงหมายเลข 4 สาย กรุงเทพมหานคร – จุดผ่านแดนถาวรสะเดา (เขตแดนไทย/มาเลเซีย) เป็นทางหลวงสายประธานของประเทศที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทย มีระยะทาง 1,277 กิโลเมตร นับเป็นทางหลวงสายที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีเส้นทางเริ่มต้นที่สะพานเนาวจำเนียร (ข้ามคลองบางกอกใหญ่) ตั้งอยู่บนเส้นแบ่งการปกครองระหว่างเขตบางกอกใหญ่กับเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่จุดผ่านแดนถาวรสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บริเวณเขตแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย โดยในปี 2558 มีปริมาณจราจรประมาณ 5,430 คัน/วัน
 

เปิดแล้ว “ทล.” ขยายถนนสายชุมพร – ระนอง 4 เลน เชื่อมด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ทรายแดง และ ต.บางนอน อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป - กลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ระหว่าง กม.585+250 – กม.603+000 ผิวทางแบบแอสฟัลท์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร และด้านในกว้าง 0.5 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลาง รวมงานก่อสร้างจุดกลับรถ พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง 

เปิดแล้ว “ทล.” ขยายถนนสายชุมพร – ระนอง 4 เลน เชื่อมด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการก่อสร้างนี้แล้วเสร็จจะทำให้ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงชุมพร – ระนอง เป็น 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง โครงข่ายทางหลวงมีความสมบูรณ์และมีมาตรฐานดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพรองรับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และยุทธศาสตร์การเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าจากชายฝั่งทะเลตะวันออกไปยังชายฝั่งทะเลตะวันตก รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก ทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ ช่วยลดอัตราการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และเกษตรกรรมในพื้นที่