ครม.งัดไม้แข็ง คุมธุรกิจ “ทรัสตี -คราวด์ฟันดิง” สกัดฟอกเงิน

20 ก.ย. 2565 | 16:38 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 23:43 น.

ครม. ดึงผู้ประกอบธุรกิจทรัสตี และ ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงิน ตามกฎหมาย ของ ปปง. ป้องกันการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาลงทุนฟอกเงิน โดยออกเป็นร่างกฎกระทรวง ฉบับใหม่คุมเข้มธุรกิจ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ 

 

สาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ “ผู้ประกอบธุรกิจทรัสตี” ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ “ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง” ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็น “สถาบันการเงิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 

ทั้งนี้เพื่อให้การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม และป้องกันการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาลงทุน เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทรัสต์และผ่านระบบคราวด์ฟันดิง ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น 

 

ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบ นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อฟอกเงิน โดยที่บริษัทตัวกลางไม่ได้รายงานความผิดปกติของธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยให้สำนักงาน ปปง. รับทราบ

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทรัสตีและผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้ 

  • การรายงานการทำธุรกรรม 
  • การจัดให้ลูกค้าต้องแสดงตน 
  • การกำหนดนโยบาย การรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการตรวจสอบ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า

 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ครม.ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการดังกล่าวต้องมีขั้นตอนที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่เป็นภาระมากเกินไป และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ MSME 

 

พร้อมทั้งให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้