“แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

13 ก.ย. 2565 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 16:01 น.
1.3 k

“แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย”จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”ดร.สามารถ เตือนสติ ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.เหตุหลายพื้นที่จมบาดาล

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่13 กันยายน2565 ระบุว่า เห็นใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ  ( นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  )

 

ที่ต้องมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ผู้เพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของ กทม. และของหน่วยงานอื่นได้แบบไร้รอยต่อ ผมจึงไม่ต้องการซ้ำเติมท่าน เพียงแต่อยากให้ท่านนำข้อเสนอของผมไปพิจารณาใช้เท่านั้น

 

1. ปีนี้ทำไมน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ ?

จากการเฝ้าติดตามการทำงานของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติและทีมงาน พบสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องประสบวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนี้

 

 

(1) เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ทำให้เส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วยเส้นเลือดใหญ่ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ กทม. วางเพิ่มเติมโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) คลองหลัก และอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนเส้นเลือดฝอยประกอบด้วย ระบบท่อระบายน้ำและระบบรางระบายน้ำจากผิวจราจร และคลองย่อย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าช่วงนี้น้ำในคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ และคลองเปรมประชากร เป็นต้น มีระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นั่นหมายความว่าในบางพื้นที่น้ำได้ล้นแนวเขื่อนกั้นน้ำเข้าท่วมแล้ว จนทำให้คนกรุงเทพฯ ในพื้นที่เหล่านั้นพูดว่า “น้ำล้นคลองไม่เกิดมานาน 20 ปีแล้ว เพิ่งมาเกิดอีกปีนี้แหละ” สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าเส้นเลือดใหญ่มีปัญหาแล้ว

 

 

 

ถ้า กทม. ไม่เร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ มัวแต่แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ผู้บริหาร กทม. ชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ก็จะไม่สามารถขนน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เนื่องจากน้ำจากเส้นเลือดฝอยจะต้องไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ย่อมส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม

 

 

(2) ทีมงานบางคนสั่งการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ/หรือ ไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ อีกทั้ง มีการสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานโดยตรง เป็นการสั่งการ “ข้ามหัว” ของหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดการบูรณาการ ที่สำคัญ ไม่รับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

 

 

2. ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังนี้

 

(1) ตรวจสอบการทำงานของเส้นเลือดใหญ่ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ? ถ้าไม่ ต้องเร่งแก้ไข ในกรณีที่น้ำไหลเข้าอุโมงค์ไม่ทัน ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองเพิ่มเติม เครื่องสูบน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งน้ำเป็นทอดๆ เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้าสู่อุโมงค์ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้ำจากเส้นเลือดฝอยไหลมาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ พูดได้ว่าทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ไม่เป็นอัมพาต

 

 

(2) กำชับให้ “ทีมงาน” ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนสั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการสั่งงานแบบ “ข้ามหัว” ที่สำคัญ ควรรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานระบายน้ำมาอย่างยาวนาน

 

(3) ขอให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากคลองที่อยู่ติดกับทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำออกจากคลองในเขตกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

3. สรุป

 

ดร.สามารถ ย้ำว่า "ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นที่คาดหวังอย่างมากของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่เลือกท่านให้มาแก้หลากหลายปัญหาของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องทุกข์ระทมอยู่ในเวลานี้

 

เหตุที่ท่านเป็นที่คาดหวังก็เพราะว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานบริหารในฐานะรัฐมนตรีมาแล้ว อีกทั้ง ทราบจากการหาเสียงของท่านว่า ท่านได้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาเป็นอย่างดีก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นเวลาถึง 2 ปี

 

เมื่อ ผู้ว่าฯชัชาติ เป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ แต่แก้ปัญหาให้เขาเหล่านั้นได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกตำหนิติเตียนบ้างเป็นธรรมดา ขอให้ถือว่าเป็นการ “ติเพื่อก่อ”

ดร.สามารถกล่าวทิ้งท้ายว่า  ทั้งหมดนี้  ด้วยความหวังดีต่อท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงานครับ

“แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย”  จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”