ดอลลาร์ร่วง-กังวลอุปทานน้ำมัน หนุนน้ำมัน WTI ปิดพุ่ง 3.9%  

10 ก.ย. 2565 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2565 | 13:39 น.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (9 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน และการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. พุ่งขึ้น 3.25 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 86.79 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้
         

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 3.69 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 92.84 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงลดลง 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้
         

สัญญาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันในตลาดโลก โดยมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียจะหายไปจากตลาด หลังรัสเซียขู่ที่จะยกเลิกสัญญาที่ทำไว้หากกลุ่มประเทศ G7 เดินหน้ากำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะระงับการจัดส่งพลังงานโดยสิ้นเชิงให้กับชาติตะวันตก หากมีการใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย
         

"เราจะยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับชาติตะวันตก และเราจะยุติการจัดส่งพลังงานโดยสิ้นเชิง หากมีการใช้มาตรการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเรา โดยเราจะไม่ส่งก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน หรือพลังงานใดๆ" ปธน.ปูตินกล่าวในการประชุมเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Forum) ที่เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย

         

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของประเทศกลุ่ม G7 เห็นพ้องที่จะใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะบั่นทอนฐานะทางการคลังของรัสเซีย เพื่อไม่ให้รัสเซียนำรายได้ไปสนับสนุนการทำสงครามกับยูเครน โดยมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ธ.ค. 2565 และจะบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในวันที่ 5 ก.พ. 2566

ดอลลาร์ที่ร่วงลงในวันศุกร์หลังทะยานขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นแรงหนุนสัญญาน้ำมันดิบด้วย โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 0.64% สู่ระดับ 109.0030
         

การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ
         

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังพุ่งขึ้นโดยไม่สนใจข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นในสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ก.ย.) ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 8.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ซึ่งได้รับการสำรวจโดยเอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตี อินไซต์คาดไว้ว่า อาจลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
         

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันยังคงเป็นปัจจัยถ่วงราคาลง