คุมข้าราชการโกง ป.ป.ช. ดึง ก.พ. ร่วมปราบทุจริต เพิ่มการประเมินจริยธรรม

09 ก.ย. 2565 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 23:59 น.

คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดึง สำนักงาน ก.พ. หาช่องทางควบคุมข้าราชการโกง ทุจริต เล็งดึงจริยธรรมของบุคลากรภาครัฐ เข้ามาบรรจุในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐต่อในอนาคต

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยในงานกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง “New Next Normal” ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่อต้านการทุจริต) ความสำเร็จของแต่ละตัวชี้วัดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) โดยระบุว่า

 

ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อนำเรื่องของจริยธรรมของบุคลากรภาครัฐ เข้ามาบรรจุในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ซึ่งจะช่วยวัดผลการทำงานของหน่วยงานรัฐได้ดียิ่งขึ้น 

ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐที่ร่วมประมาณ ITA ทั้งหมด 8,303 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมหน่วยงานย่อยอีก เช่น อำเภอ หรือสำนักงานเขต ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยผลการประเมินล่าสุดในปี 2565 พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ มีคะแนน ITA เฉลี่ย 87.57 คะแนน คิดเป็นสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์เพียง 70.52% น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80%

 

อย่างไรก็ตามในอนาคตหน่วยงานต่าง ๆ จะเข้าสู่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้เข้าไปทำการชี้วัดและสรุปเป็นคะแนนออกมา พร้อมทั้งตรวจสอบรายละเอียดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเป้าหมายด้วย

 

ทั้งนี้ในอนาคต ป.ป.ช. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกทม. ผลักดันหลักสูตรการต่อต้านการทุจริตศึกษา ไปยังโรงเรียน และสถานศึกษาในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประยุกต์ หรือเผยแพร่ให้ถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความรู้ด้านการป้องกันการทุจริตเพิ่มขึ้น

“ผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่า คนไทยยังยึดมั่น และมีทัศนคติที่ดีต่อความซื่อสัตย์สุจริต ประเทศไทยไม่ได้แย่ หรือไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่ว่าอาจจะใกล้ชิดกับบางอย่าง จนทำให้เกิดเผลอใจกระทำการทุจริต ตอนนี้จึงต้องทำให้จิตใจกลับมา หรืออยู่ในเส้นทางที่ตรงขึ้น โดยการปรับฐานความคิดของคนเป็นเป้าหมายสำคัญที่ป.ป.ช. จะต้องเร่งทำในอนคต” นายนิวัติไชย ระบุ

 

นายนิวัติไชย กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ยังกำหนดเป้าหมายการทำงานในอนาคต โดยเน้นไปที่เรื่องของเด็กและเยาวชนไทยให้มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต เบื้องต้นจะมีการพัฒนาตัวชี้วัดการประเมินผลใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม พร้อมทั้งผลักดันออกมาเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วย