เอเปคเอ็สเอ็มอี.ถกสนั่นภูเก็ตหนุนผู้ประกอบการตัวเล็กสู่ยุคดิจิทัล     

08 ก.ย. 2565 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 21:14 น.

เอเปคเอสเอ็มอี.ถกลึก พร้อมก้าวสู่เน็กซ์นอมอล ชี้ต้องปรับตัวให้ทันรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล ที่ผลักดันให้เกิดตัวแบบธุรกิจใหม่อย่างก้าวกระโดด สสว. แนะรัฐเร่งส่งเสริมตามความหลากหลาย ให้แต้มต่อ MSMEs ในกระบวนการจัดซื้อภาครัฐ ดูแลเครดิตเทอม หนุนSMEs แบบเจาะกลุ่ม 

วันที่ 5-6 ก.ย.2565 ที่โรงแรม SAii Laguna Phuket จังหวัดภูเก็ต มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ(เวิร์คช็อป)  เรื่อง Ready for the 'Next Normal': How MSMESs should Adapt to an Evolving Market Landscape ภายใต้ทุนสนับสนุนของ APEC SME Working Group (SMEWG)  

 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า การประชุมนี้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการปรับตัว ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

เอเปคเอ็สเอ็มอี.ถกสนั่นภูเก็ตหนุนผู้ประกอบการตัวเล็กสู่ยุคดิจิทัล     

 

เอเปคเอ็สเอ็มอี.ถกสนั่นภูเก็ตหนุนผู้ประกอบการตัวเล็กสู่ยุคดิจิทัล     

โดยผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จากเขตเศรษฐกิจสมาชิกของ APEC รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทชั้นนำ และองค์กรนานาชาติ อย่าง Amazon, Facebook Thailand, Unilever, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development, OECD), สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ไทเป, องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์ สมาคมการค้า และ MSMEs รวมกว่า 200 คน 

 


หัวข้อสำคัญที่มีการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ เช่น สถานการณ์ แนวโน้มและการปรับตัวสู่ ‘next normal' แพลตฟอร์มดิจิทัล กฎหมายด้านการแข่งขัน และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การวางแผนภาพอนาคต (scenario planning) รวมถึงเทรนด์ที่สำคัญต่าง ๆ

เอเปคเอ็สเอ็มอี.ถกสนั่นภูเก็ตหนุนผู้ประกอบการตัวเล็กสู่ยุคดิจิทัล     

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน การขยายตัวของเศรษฐกิจ silver economy ความยั่งยืน สุขภาพ work-life balance การสร้างความเสมอภาคของผู้ประกอบการสตรี และความหลากหลายทางเพศสภาพ รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวของ MSMEs หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฯลฯ เพื่อให้ MSMEs เตรียมพร้อม และปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้

 

“จากการประชุมทั้ง 2 วัน สามารถสรุปข้อเสนอแนะในการส่งเสริม MSMEs ให้เติบโต ในยุคหลัง COVID 19 ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภค และสถานการณ์ รวมถึงรูปแบบการตลาดที่เปลี่ยนไป เนื่องจากภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ในฐานะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเรื่องเศรษฐกิจ จึงต้องมีเครื่องมือ นโยบาย ยุทธศาสตร์ กฎหมาย กฎระเบียบ และสร้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ MSMEs สามารถเข้าถึงได้ง่าย สนับสนุนการใช้ e-procurement โดยมี 4 ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา SME ที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านขนาดและมิติด้านอื่น ๆ เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นต้น” ผอ.สสว. กล่าว 
    

 

สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้ MSMEs สามารถเติบโต และแข่งขันได้ในยุคหลัง COVID 19 ประกอบด้วย 1. กระบวนการพัฒนา MSMEs ควรมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญในการพัฒนานโยบายในรูปแบบ Policy Mix เนื่องจากความแตกต่างกันของ MSMEs ทั้งในเชิงศักยภาพของพื้นที่ ภาคธุรกิจ และความสามารถของผู้ประกอบการ ทำให้การส่งเสริม MSMEs ต้องทำในรูปแบบ Dynamic (Seperate & Focus on Target) ที่ต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ผู้ประกอบการสตรี ผู้ประกอบการชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ ฯลฯ โดยสร้าง Program การส่งเสริมที่เชื่อมโยงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง พร้อมกับการร่วมมือกับภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการผลักดัน MSMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

2. กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อลดปัญหา อุปสรรค และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ MSMEs โดยเฉพาะในเรื่อง Credit Term ซึ่งในไทยส่วนใหญ่ให้ Credit Term กับ MSME ไม่เกิน 45 วัน แต่ในหลายเขตเศรษฐกิจมีการให้ไม่เกิน 30 วัน สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอด และการขยายโอกาสให้ MSMEs มาก 

 

3. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่ง OECD ได้เสนอแนะเครื่องมือ นโยบาย กฎหมาย ที่แต่ละเขตเศรษฐกิจสามารถช่วยเหลือ MSMEs ให้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น สำหรับไทย สสว. ได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง สนับสนุน MSMEs ผ่านมาตรการสนับสนุนให้ MSMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบ THAI SME-GP โดยในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา ภาครัฐซื้อสินค้าจาก MSMEs รวมมูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด 

 

“ประเด็นที่น่าสนใจและมีการพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น จากผลการศึกษาของ OECD ระบุว่า การแบ่งปริมาณในการซื้อสินค้าหรือบริการ ที่ต้องส่งมอบในแต่ละสัญญาให้เหมาะสมต่อศักยภาพของ MSMEs เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มประเทศ OECD มีการซื้อสินค้าจาก MSME คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ของ GDP ของกลุ่ม OECD ขณะที่จีนมีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจาก MSMEs มากกว่า 75.5% ของจำนวนสัญญาการจัดจ้างภาครัฐ โดยกว่าครึ่งขอจำนวนนี้เป็นการจัดซื้อของวิสาหกิจรายย่อย (Micro) และวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ที่สำคัญจีนจะมีกฎหมาย กฎระเบียบ ในการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อต่อ MSMESs ทั้งมาตรการด้านราคา การพัฒนา และบรรเทาผลกระทบ ขณะที่ MSMEs จะได้รับสิทธิพิเศษทั้งในเรื่องแต้มต่อ สิทธิประโยชน์ทางภาษี รายได้ รวมถึงการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้าง” ผอ.สสว. กล่าว     

 

และ 4. การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดภาคเอกชน โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสตรี กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสตรี ซึ่ง UN Women และ Unilever  ได้ให้ข้อคิดเห็นในการจัดซื้อจัดจ้างจาก MSMEs ที่ให้คำนึงถึงความหลากหลายของซัพพลายเออร์ ทั้งในมิติของกลุ่มธุรกิจ และมิติทางเพศสภาพ เพื่อสร้างความเสมอภาค ส่งเสริมทำงานร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในสังคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ไทยมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญในการสร้าง MSMEs ให้มีมาตรการอย่างยั่งยืน รวมถึงให้มีผู้หญิงเข้ามาในห่วงโซ่อุปทาน และการสร้างดิจิตอล ซึ่งการพัฒนาการเงิน สถาบันการเงิน ควรมีกระบวนการที่จะเอื้อให้ MSMEss ก้าวข้ามอุปสรรคเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 

 

ปัจจุบันไทยมี MSMEs มากกว่า 3 ล้านราย และช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตอนนี้สถาบันการเงินในหลายๆ แห่งได้ร่วมมือกันเพิ่มการดูแล จัดการด้านการเงินให้แก่ MSMEs โดยมีการลงทุนด้านดิจิตอล ลดการใช้กระดาษ และทำให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งทุนทางดิจิตอลมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา เรื่อง “ตลาดดิจิทัล และเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม MSMESs จะรับมือกับออนไลน์แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นมากมายอย่างไร” โดยมีตัวแทนจากบริษัทชั้นนำ Amazon ได้มาร่วมให้ข้อเสนอแนะ เน้นย้ำถึง เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความสำคัญอย่างมาก และ MSMEs จะต้องปรับตัวให้ทัน และการเกิดแพลตฟอร์มออนไลน์จะช่วยลดช่องว่างให้ MSMEs เข้าถึงได้ง่าย โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกให้แก่ MSMEs รวมถึงต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างแผนงานให้ความรู้ด้านดิจิทัล ส่งเสริมความยั่งยืนในการทำธุรกิจ และต้องเพิ่มเติมทักษะ องค์ความรู้ให้แก่ MSMEs เนื่องจากขณะนี้ MSMEs ยังขาดข้อมูล และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดของ MSMEs ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลาย ๆ บริษัท ได้มีการพัฒนาดิจิทัลในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่ก็มีบางส่วนไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้ชีวิตแตกต่างไปจากเดิม ทุกคนเข้าสู่วิธีการซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคใช้ e-commerce มากขึ้น ผู้ประกอบการ MSMEs  จะต้องให้ความสนใจแนวโน้มตลาดในเรื่องนี้ รวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนร่วมด้วย