รู้จัก กฎหมายจราจรใหม่ 2565 ทำผิดแบบไหน จับส่งขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง

07 ก.ย. 2565 | 04:34 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2565 | 19:46 น.
2.6 k

รู้จัก กฎหมายจราจรใหม่ 2565 หรือ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร หลังผ่านการเห็นชอบจากครม. เรียบร้อย กำหนดรายละเอียดชัดเจน ไปดูกันว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ มีสาระสำคัญอย่างไร ทำผิดอะไร ถึงกำหนดโทษไว้เด็ดขาด ใครทำผิดเจอจับส่งขึ้นศาลแทนออกใบสั่งทันที

การประชุมครม. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเรื่องหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก หลังครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... หรือ กฎหมายจราจรใหม่ 2565 ตามที่ สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอ นับเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ในการพิจารณา “คดีจราจร” ให้มีความเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น

 

ฮือฮา ครม.เคาะตั้ง "แผนกคดีจราจร" ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ส่งขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง

เหตุผลความจำเป็นของการออก ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร

 

ปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป 

 

อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในกรณีผู้รับใบสั่งได้โต้แย้งข้อกล่าวหา หรือเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง 

 

จึงต้องใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทำให้มีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานาน  

 

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ครม.จึงมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอ

 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร

  • กำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจร
  • กำหนดจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาณาทั่วไป 
  • กำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจร ซึ่งจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ 
  • กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจรโดยให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล 
  • กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้น ๆ 

 

การจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นที่ไหนบ้าง

 

รายละเอียดเรื่องนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร กำหนดให้จัดตั้งและเปิดทำการแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลแขวงในกรุงเทพมหานคร ศาลแขวงนครปฐม ศาลแขวงนนทบุรี และศาลแขวงสมุทรปราการ ส่วนศาลแขวงในจังหวัดอื่นและศาลจังหวัดสำหรับท้องที่ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้จัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลดังกล่าวทุกศาล แต่จะเปิดทำการเมื่อใดให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

 

ประเภทคดีจราจรและขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาคดีจราจร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น 

  • ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ 
  • ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ 
  • ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร 
  • ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด 

 

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 

กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 

กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นต้น กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ป.วิ.อ. หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้

 

บทลงโทษตามร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร

 

คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ 

 

แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน ศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น 

 

ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร