พิษเงินเฟ้อ “คนจน” อ่วม 10 ปี กำลังซื้อเฉลี่ยเพิ่มแค่ 15 บาท

06 ก.ย. 2565 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2565 | 19:48 น.

มธ. ชี้พิษเงินเฟ้อทำ “คนจน” อ่วม 10 ปี กำลังซื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแค่ 15 บาท ปรับเพิ่มค่าจ้างอีก 5% ช่วยคนจนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ความยั่งยืน

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งถึงระดับ 7% จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยสัดส่วนการปรับ 5% ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจะสามารถช่วยแรงงานได้ระดับหนึ่ง

 

พบว่า เงินส่วนใหญ่ของคนจนหรือคิดเป็น 45% ของรายได้ ต้องถูกใช้ไปสำหรับการบริโภคอาหาร ขณะที่คนรวยจะมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารคิดเป็นเพียง 27% ของรายได้เท่านั้น ตรงนี้สะท้อนว่าในความเป็นจริงแล้วคนจนได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่า 7% ด้วยซ้ำ

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะปรับใหม่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าคนจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 15 บาทต่อวันเท่านั้น โดยในอดีตกลุ่มคนจนจะจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 318 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างใหม่จะทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 333 บาทต่อวันเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี หากคำนวนต่อปี 22 วันต่อเดือนแล้วคูณ 12 เดือนเข้าไป เบ็ดเสร็จเขาสามารถจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,960 บาทต่อปี ซึ่งมันก็คิดเป็นประมาณ 4.72% ทีนี้ถ้าเราไปดู GDP ซึ่งคือรายได้รวมของทั้งประเทศ 10 ปีตรงนี้มันโต 20% เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนว่ารายได้ของกลุ่มคนรายได้น้อยโตช้ากว่าเศรษฐกิจที่มันโตขึ้น มันก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำตรงนี้และชีวิตที่ค่อนข้างจะลำบาก

 

รศ.ดร.กิริยา  ยังกล่าวอีกว่า ในทุกวันนี้ที่ยังไม่มีการปรับและยังใช้อัตราเดิมอยู่นี้ ถ้าคำนวณหาค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงจะพบว่าต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว 2 บาท ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แม้ตัวเงินที่ได้จะดูเพิ่มขึ้น แต่อำนาจในการซื้อกลับน้อยลง

 

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถคุมได้ ส่วนตัวคิดว่าในประเด็นนี้อาจไม่ต้องกังวลนัก เพราะเพิ่มเพียง 5% ไม่น่าจะส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือ inflation expectation ที่นักเศรษฐศาสตร์หรือหลายคนกลัวกัน เพราะปัจจัยอื่นน่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อมากกว่า”

 

สำหรับผลกระทบกับผู้ประกอบการจะได้รับมากน้อยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่

1. ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคได้มากน้อยเท่าไร เช่น ถ้าลูกค้าคือภาครัฐ ซึ่งจะกำหนดงบประมาณไว้ล่วงหน้าแล้ว ปรับราคาขึ้นไม่ได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นฝ่ายเดียว

 

2. ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แรงงานที่ได้รับระดับค่าจ้างขั้นต่ำมากน้อยขนาดไหน เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟอาหาร พนักงานขาย ผู้รับจ้างภาคเกษตร-ก่อสร้าง ไม่ก็ใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ โดยมากจะจ้างเกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ก็มีส่วนที่กระทบเนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นอัตราอ้างอิง

 

 “การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในประเทศ รวมถึงไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนา แท้จริงแล้วคนทั้งประเทศควรได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากจะไม่พอสำหรับการจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังถือเป็นการบิดเบือนตลาด ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลง”

 

 

 

ดังนั้นไทยเราควรมุ่งไปสู่การมีค่าแรงที่สูงเพียงพอต่อการยังชีพ และเป็นค่าแรงที่กำหนดขึ้นตามกลไกราคา ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการให้แรงงานมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น มีการใช้ทักษะที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการสร้างช่องทางที่เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับแรงงาน

 

ทางฝั่งธุรกิจก็จำเป็นต้องยกระดับตนเอง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับพัฒนาทักษะให้แรงงาน สัดส่วนค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับก็จะสูงขึ้น

 

“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รัฐควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงาน เช่น สหภาพแรงงงาน ฯลฯ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน โดยให้การรวมกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรัฐต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลด้านตลาดแรงงาน เพื่อสร้างทางที่จะนำแรงงานไปสู่อาชีพและทักษะที่ตลาดต้องการ

 

ซึ่งในโลกที่ไม่แน่นอน คาดเดายาก และเปลี่ยนแปลงเร็ว แพลตฟอร์มนี้ยิ่งทวีความสำคัญ ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องแก้ไขการแข่งขันที่ผูกขาด โปร่งใสไม่คอร์รัปชัน เหล่านี้ต่างช่วยให้ศักยภาพของแรงงานและเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ในช่วงนี้รัฐสามารถช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของคนมีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”