"GIT" โชว์ศักยภาพนักออกแบบเครื่องประดับสร้างแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

06 ก.ย. 2565 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2565 | 17:00 น.

"GIT" โชว์ศักยภาพนักออกแบบเครื่องประดับสร้างแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก จัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ GIT World’s Jewelry Design Awards สนับสนุนผู้ประกอบการ นักออกแบบ และบุคคลทั่วไป

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับ ถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย เป็นอันดับ 3 ในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก 

 

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้ดำเนินการจัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ GIT World’s Jewelry Design Awards ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการ นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปที่มีใจรักในการออกแบบและสนใจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 

 

ได้มีเวทีและโอกาสในการแสดงศักยภาพและพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์เครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เพื่อการตอกย้ำการเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก 

 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 16 (GIT’s World Jewelry Design Awards 2022) ภายใต้หัวข้อ True Nature – Reveal the Secret of Nature ที่เปิดโอกาสให้ผู้รักการออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงาน 

 

โดยนำแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่แท้จริง ลดความสูญเสียในการผลิต นำมาประยุกต์ให้เกิดความน่าสนใจ รวมถึงการนำพลอยเก่า พลอยที่เหลือใช้ มา Upcycle ให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ และตอบโจทย์ตลาดการค้าเครื่องประดับจากทั่วทุกมุมโลก 

 

"GIT" โชว์ศักยภาพนักออกแบบเครื่องประดับสร้างแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

 

ซึ่งเป็นการต่อยอดและพัฒนาขีดความสามารถของนักออกแบบไทย โดยในปีนี้ มีนักออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดรวม 527 ชิ้นงาน จาก 22 ประเทศ 

สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ผศ.ดร. วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,สิริพร ภาณุพงศ์ รองประธานกรรมการ สำนักงานกฎหมาย Royal Law และอดีตอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ,ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น 

 

โดยได้คัดเลือกผลงานทั้งหมด จนเหลือ 32 แบบวาด และเลือกแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด นำไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง เพื่อตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ และแสดงผลงานผ่านแฟชั่นโชว์