ส่งออกไทยไปรัสเซียวูบหนัก 7 เดือนติดลบ 37% รถยนต์หดตัวแรง

02 ก.ย. 2565 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2565 | 23:29 น.

6 เดือนไฟสงคราม ทุบส่งออกไทยไปรัสเซียวูบต่อเนื่อง 7 เดือนแรกติดลบกว่า 37% ผลพวงมาตรการคว่ำบาตรเข้มข้นจากชาติตะวันตก ทำเศรษฐกิจแดนหมีขาวป่วน ขนส่ง-โลจิสติกส์สะดุด รถยนต์สินค้าส่งออกเบอร์ 1 ร่วงหนัก ลุ้นสายเดินเรือในเอเชียมาให้บริการแทนยุโรปช่วยกู้สถานการณ์ดีขึ้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย รายงานว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยรัสเซียได้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารกับยูเครน และต่อมากลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรที่สนับสนุนยูเครนได้ตอบโต้รัสเซียอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นและรอบด้าน ส่วนหนึ่งเพื่อหวังกดดันระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยรัสเซียต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับและพยายามหามาตรการมาช่วยพยุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจนสามารถต้านทานแรงกดดันจากฝ่ายตะวันตกได้ค่อนข้างมีประสิทธิผล

 

ส่งออกไทยไปรัสเซียวูบหนัก 7 เดือนติดลบ 37% รถยนต์หดตัวแรง

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซียอย่างรุนแรง นับตั้งแต่เดือนมีนาคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออก 46.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 10.68 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 42.59 ขณะที่ภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียสะสมในช่วง 7 เดือนแรก 338.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11,337 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ -37.01

 

ในเดือนกรกฎาคม 2565 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 78.02 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 33.77 โดยรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยเป็นหมวดที่ครอง สัดส่วนมูลค่าสูงที่สุดอันดับหนึ่งมาโดยตลอดได้ตกไปอยู่อันดับที่ 7 ของเดือนนี้ หดตัวร้อยละ -88.84 โดยมีสินค้ารถยนต์นั่งกลับมายังตลาดรัสเซียอีกครั้งเป็นมูลค่า 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่เหลือเป็นส่วนประกอบและ อุปกรณ์รถยนต์อีก 0.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

 

จำนวน 7 ใน 10 อันดับแรกของสินค้าไทยที่ส่งไปรัสเซียในเดือนกรกฎาคม 2565 มีอัตราการขยายตัวในแดนบวก โดยมีเม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่เติบโตได้ในอัตราสูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง และ น้ำมันสำเร็จรูปหดตัวลง ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญของการส่งออก ในช่วงนี้คือมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ ดังนั้นมูลค่าการส่งออกของแต่ละรายการในแต่ละเดือนจะมีความผันผวนสูงอันอาจมีสาเหตุมาจากจังหวะ และรอบเที่ยวเรือขนส่งที่ไม่มีความแน่นอนผ่านเข้าไปยังรัสเซีย

 

ส่งออกไทยไปรัสเซียวูบหนัก 7 เดือนติดลบ 37% รถยนต์หดตัวแรง

 

หากพิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปยังตลาดรัสเซียในช่วง 7 เดือนแรก พบว่า ทุกกลุ่มประเภทสินค้ามีอัตราการขยายตัวในแดนลบทั้งสิ้น โดยมีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ครองส่วนแบ่งการส่งออกจากไทยทั้งหมดประมาณร้อยละ 71 ปรับตัวลดลงจากปกติที่เคยอยู่ในระดับร้อยละ 80 ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้กระจายออกเป็นหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเป็นสินค้าหลัก (สัดส่วนร้อยละ 22.83 ของการ ส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังรัสเซีย)

 

ตามด้วย ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 12.20) เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 7.04) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (ร้อยละ 6.11) แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (ร้อยละ 2.69) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (ร้อยละ 2.38)

 

กลุ่มรองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สัดส่วนรวมร้อยละ 16.38 แบ่งเป็นผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 5.96) เป็นสินค้านำของกลุ่ม ตามมาด้วยอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 4.58) ถัดไปเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 9.43 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้ากสิกรรม (ร้อยละ 8) ประกอบด้วยยางพารา (ร้อยละ 3.52) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ร้อยละ1.91) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (ร้อยละ 1) และข้าว (ร้อยละ 0.86) ที่เป็นสินค้าหลัก รวมทั้งกลุ่มสินค้าประมง (ร้อยละ 1.31) ประกอบด้วย ปลา (ร้อยละ 1.13) และกุ้ง (ร้อยละ 0.24) เป็นสินค้าหลัก

 

นับจากวิกฤตยูเครนที่รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียในเดือนมีนาคมหดตัวลงอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 73 ต่อเนื่องมาในเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 77 เดือนพฤษภาคมหดตัวร้อยละ 65 เดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 53 และเดือนกรกฎาคมหดตัวร้อยละ 43 ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีแนวโน้มการชะลอตัวที่ลดลงเป็นลำดับ

 

โดยประเมินได้ว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของรัสเซียทุเลาลง โดยมีสายการเดินเรือใหม่ ๆ ในแถบเอเชียเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าเข้า-ออกรัสเซียมากขึ้นเพื่อทดแทนสายการเดินเรือหลักของยุโรปที่ถอนตัวออกไป นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไม่สูงเกินไป

 

 อย่างไรก็ตามสินค้าหลักทุกหมวดล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเข้าถึงเงินสกุลหลัก การขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ถูกจำกัดและขาดความแน่นอน

 

 

สคต. ณ กรุงมอสโก ให้ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้เวลาผ่านมาครึ่งปีของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและประเทศตะวันตก พบว่ามาตรการคว่ำบาตรฯ ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถทำลายเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะเวลาอันรวดเร็วได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่คาดหวัง โดยรัสเซียยังคงมีรายได้ทดแทนจากการส่งออกสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังทวีปเอเชีย และยังมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าสหภาพยุโรปที่จำเป็นต้องอาศัยพลังงานของรัสเซีย

 

อีกทั้งรัสเซียก็สามารถหามาตรการอื่น ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนบ้างคือ ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนสินค้าบางอย่างที่รัสเซียไม่สามารถนำเข้าได้เหมือนเดิม และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบ รวมทั้งผลกระทบในระยะยาวจากธุรกิจของต่างชาติที่ทยอยถอนตัวออกจากรัสเซีย การขาดแคลนอุปกรณ์และชิ้นส่วนของยานยนต์และระบบการผลิต และการขาดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นต้น

 

ในส่วนของการค้าไทยกับรัสเซียมีมูลค่าไม่มากนัก โดยที่ผ่านมาไทยพึ่งพาหมวดสินค้าอุตสาหกรรมหลักที่ไทยส่งออกไปรัสเซียคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งหากรวมยางรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบเข้าไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้มีสัดส่วนรวมถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด จากมาตรการคว่ำบาตรฯ ได้ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรงจน ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปยังรัสเซียในปี 2565 จะหดตัวลงในอัตราสูง

 

สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มีประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้คือการขนส่งสินค้าระหว่าง ประเทศที่มีผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรฯ ซึ่งเส้นทางการขนส่งหลักทางทะเลของสินค้าไทยมักใช้เส้นทางผ่านยุโรป ไปยังท่าเรือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้รับผลกระทบอย่างหนัก เหลือเพียงท่าเรือเมืองวลาดิวอสตอคในตะวันออกไกลของรัสเซียที่จำเป็นต้องขนส่งต่อจากท่าเรือโดยทางรางไปยังฝั่งตะวันตกที่เป็นที่ตั้งของเมืองเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้มีสายการเดินเรือใหม่ ๆ ในเอเชียเข้ามาให้บริการทดแทนและคาดว่าสถานการณ์การขาดแคลนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศยังเป็นไปอย่างจำกัดและยังไม่มีทีท่าว่าปัญหา จะทุเลาลงในอนาคตอันใกล้ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อออกไป