โลกอาลัย ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ถึงแก่อสัญกรรม ในวัย 91 ปี

31 ส.ค. 2565 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 14:27 น.
1.7 k

‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ อดีตผู้นำรัสเซีย ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต” และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี1990 จากบทบาทการยุติสงครามเย็น ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ส.ค.)

นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำ สหภาพโซเวียต วัย 91 ปี ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการป่วยเรื้อรังซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม จากแถลงการณ์ของโรงพยาบาลกลาง Central Clinical Hospital ในกรุงมอสโก 

 

สำนักข่าวทาสส์ (Tass) สื่อใหญ่ของรัสเซียรายงานว่า ร่างของกอร์บาชอฟ จะถูกฝังที่สุสานโนโวเดวิชี ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เคียงข้างกับภรรยาผู้ล่วงลับของเขา

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้รับการจดจำในฐานะผู้นำในหลากหลายมิติ เขาผู้มีเอกลักษณ์ปานสีแดงบนศีรษะลักษณะคล้ายแผนที่ คือผู้ที่นำพาการปฏิรูปมาสู่รัสเซียซึ่งในขณะนั้นยังคงเป็น “สหภาพโซเวียต”

 

เขาได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในปี 1985 ปกครองประเทศจนถึงปี 1991 กอร์บาชอฟเคยมีอุดมการณ์แบบลัทธิมาคส์-เลนิน แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมในทศวรรษ 1990

มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ภาพจากสำนักข่าวทาสส์)

แม้ว่ากอร์บาชอฟ จะดำรงตำแหน่งอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายในเวลาไม่ถึง 7 ปี แต่เขาก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายซึ่งเป็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในตอนนั้น และนำไปสู่ "การล่มสลายของสหภาพโซเวียต" ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศจากการครอบงำของรัสเซีย จากที่เคยเป็นประเทศเดียว ก็กลายเป็น 15 สาธารณรัฐแยกจากกัน และการสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและชาติตะวันตก

กอร์บาชอฟ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า กว่า 25 ปีหลังจากล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาไม่คิดจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการผนวกรวมสหภาพโซเวียตไว้ด้วยกัน เพราะเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายโกลาหลอย่างมาก โดยในตอนนั้นเขาเปิดเผยว่า “ประเทศ (สหภาพโซเวียต) ของเราเต็มไปด้วยอาวุธ และมันจะผลักดันให้ประเทศต้องเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน”

 

ในช่วงปลายวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำโซเวียตของเขา กอร์บาชอฟแม้จะดูไร้ซึ่งอำนาจ แต่ก็มีบทบาทใหญ่ขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เมื่อเทียบกับนักการเมืองในยุคเดียวกัน โดยกอร์บาชอฟ เปิดเผยต่อสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี 1992 หลังก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตว่า

 

“ผมมองเห็นตัวเองในฐานะชายที่เริ่มต้นการปฏิรูปที่จำเป็นต่อประเทศชาติ ต่อยุโรป และต่อโลก”

กอร์บาชอฟทำให้สงครามเย็นยุติลง สัมพันธภาพระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกาดีขึ้นอย่างมาก ในภาพคือกอร์บาชอฟกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

การปฏิรูปที่ชัดเจนที่กอร์บาชอฟนำมาสู่สังคมและเศรษฐกิจของรัสเซีย คือภายในสองสามปีแรกของเขาในฐานะผู้นำสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟได้นำเสนอนโยบาย กลาสนอสต์ (glasnost) ที่แปลว่า"การเปิดกว้าง" และ เปเรสตรอยกา (perestroika) หรือ "การปรับโครงสร้าง" ที่โด่งดังไปทั่วโลก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสหภาพโซเวียตและนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะเดียวกัน 

 

นโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตภายใต้ "เปเรสตรอยกา" นั้นเป็นการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจ ส่งผลให้บทบาทของรัฐบาลในกระบวนการตัดสินใจของแต่ละองค์กรลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เปเรสตรอยกายังมุ่งหวังที่จะปรับปรุงระดับการผลิตด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น รวมถึงการให้เวลาพักผ่อน และสภาพการทำงานที่ปลอดภัยมากขึ้น

 

กอร์บาชอฟถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี

ในยุคตกต่ำของกอร์บาชอฟ อำนาจของเขาเสื่อมถอยลงจากความพยายามก่อรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1991 เขาได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งผู้นำ เฝ้ามองการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งเขาลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ธันวาคมในปีเดียวกัน และ “สหภาพโซเวียต” ได้ลบตัวเองออกจากแผนที่ในวันต่อมา

 

กอร์บาชอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1990 จากบทบาทการยุติสงครามเย็น และใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตขึ้นรับรางวัลต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก แต่เขากลับถูกดูหมิ่นอย่างมากในบ้านเกิดของตัวเอง โดยชาวรัสเซียกล่าวหากอร์บาชอฟว่า เป็นตัวการให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายในปี 1991 จากที่เคยเป็นประเทศมหาอำนาจที่ควบคุม 15 ประเทศในยุโรปตะวันออกได้ ขณะที่พันธมิตรการเมืองของเขาต่างตัดสัมพันธ์และโยนให้เขาเป็นแพะรับบาปกับความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ