sacit จัด 2 งานใหญ่แห่งปีหนุนหัตถกรรมไทยก้าวสู่เวทีสากล

02 ก.ย. 2565 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2565 | 23:13 น.

sacit จัด 2 งานใหญ่แห่งปีหนุนหัตถกรรมไทยก้าวสู่เวทีสากล มุ่งพัฒนา ผลักดันคุณค่าความเป็นไทย ด้านงานศิลปหัตถกรรมตามแนวทางศิลปาชีพ รวมถึงงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นฝีมือคนไทยสู่ตลาดทั้งใน-ต่างประเทศ

 

“ถึงเวลาที่หัตถกรรมไทยจะก้าวสู่เวทีสากล เปิดตลาดการค้าแบบไร้พรมแดน ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในประเทศ แต่วันนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ กำลังจะก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ”

 

นี่คือหนึ่งในเป้าหมายของ นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” สอดคล้องไปกับภารกิจขององค์กร ที่นายพรพล ยังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยเกิดแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น

 

 

โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสร้างสรรค์และผลิตผลงานใหม่ๆ สอดรับไปกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยยังเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นต้น

sacit จัด 2 งานใหญ่แห่งปีหนุนหัตถกรรมไทยก้าวสู่เวทีสากล

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการเตรียมก้าวสู่การแข่งขันในเวทีสากล sacit จะเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนให้องค์ความรู้ในช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายในปีนี้จะนำร่องพาผู้ประกอบการเปิดตลาดการค้าต่างประเทศ ในรูปแบบของการจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching

sacit จัด 2 งานใหญ่แห่งปีหนุนหัตถกรรมไทยก้าวสู่เวทีสากล

 

โดย sacit ได้จัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ภายใต้แนวคิด “The power of Traditional and Modern Cultural Blend : ผสานภูมิปัญญาอย่างร่วมสมัย ส่งต่อฝีมือคนไทยสู่สากล” พร้อมยกให้งานนี้เป็นงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่มีการรวม 2 งานใหญ่ไว้ในงานเดียว และเป็นการประเดิมงานประกาศความพร้อมสู่การจับคู่ธุรกิจด้วย

อีกทั้งการจัดงานดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โครงการเซรามิค สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัยที่สร้างสรรค์

 

 

โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิกผู้ผลิตงานหัตถกรรมที่สร้างสรรค์อย่างร่วมสมัย นับหมื่นรายการ รวมกว่า 650 ร้านค้าอาทิ เครื่องประดับ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องหนัง ตลอดจนงานผ้าไหม และของตกแต่งบ้าน

 

 

โดยตัวอย่างสมาชิก sacit ที่ปัจจุบันก้าวสู่เวทีสากล อาทิ Chaksarn (จักสาน) แบรนด์กระเป๋าแฟชั่นฝีมือคนไทย ผู้ก่อตั้งคือคุณตั้ม จิรวัฒน์ มหาสาร ที่ต้องการพัฒนางานหัตกรรมของชุมชนให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่า โดยผสมผสานวัสดุไทยคือเสื่อกกธรรมชาติทอมือจากท้องถิ่นกับหนังวัวแท้ ออกแบบในเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีความเป็นไทยแฝงกับความเป็นสากล และปัจจุบันส่งออกไปทั่วโลก

 

 

นายคมกฤช บริบูรณ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผู้สานต่อวงการจักสานไม้ไผ่ สู่ “ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ จากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี” หนึ่งในสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

 

ผลงานสุดวิจิตร คือ กระเป๋าลวดลายดอกพิกุล เกิดจากการนำไม้ไผ่ไปเหลาเป็นเส้นสานบางเฉียบขนาดเท่าเส้นผม นำไปสานด้วยความประณีตบรรจง และปัจจุบันได้ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ โคมไฟ กระถางต้นไม้ หมวก พัด และเสื่อ ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มต่างชาติ

 

เครื่องหอมและของตกแต่งบ้านจากเซรามิกเขียนลายด้วยมือ ผลิตภัณฑ์จาก Thaniya หนึ่งในผู้ประกอบการงาน Crafts Bangkok 2022 ที่เจาะตลาดส่งออกไปหลายประเทศ จากผลงานการออกแบบลวดลายบนเครื่องเซรามิกอย่างพิถีพิถัน

 

 

ผสมผสานความเป็นไทยและดีไซด์อันทันสมัยเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นเทียนหอม และของตกแต่งบ้าน โดยความพิเศษของเทียนหอม ทำมาจากถั่วเหลือง แม้ละลายแล้วยังสามารถนำมานวดตัว เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว อีกทั้งผ่อนคลายไปกับกลิ่นดอกไม้และสมุนไพรไทย

 

 

Varni หรือ หัตถกรรมกระจูดวรรณี ไอเดียการต่อยอดจากวัชพืชที่พบเห็นอยู่ในท้องถิ่น สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี (Varni) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

 

 

ซึ่งปัจจุบันได้รังสรรค์ผลงานจากการย้อมสีกระจูด เพ้นท์ลายต่างๆ สานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากลาย อาทิ ตะกร้าใส่ของ กระเป๋าคลัทช์ เคสโทรศัพท์ และเฟอร์นิเจอร์ชิคๆ มียอดส่งออกจำนวนมากทั้งในอังกฤษ สวีเดน เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น

 

 

ทั้งนี้ ความสำเร็จของผู้ประกอบการข้างต้น อาจเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ในการต่อยอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อผลักดันให้หัตถกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน