กัมพูชาส่งสัญญาณพร้อมรื้อฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนขุมพลังงานในอ่าวไทย

30 ส.ค. 2565 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 01:17 น.
1.1 k

กัมพูชาส่งสัญญาณพร้อมรื้อฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย โดยยึดโครงการ JDA ไทย-มาเลย์เป็นต้นแบบ พัฒนาพื้นที่และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันด้านพลังงาน

สื่อกัมพูชาเสนอข่าวความคืบหน้ากรณี พื้นที่ทับซ้อน (OCA)ในอ่าวไทย ระหว่าง ไทย และ กัมพูชา ที่เป็นความหวัง การพัฒนาแหล่งพลังงานปิโตรเลียม ในทะเลหลุมใหม่ ระบุรัฐมนตรีพลังงานกัมพูชายอมรับว่า การแก้ไขประเด็นพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและ "ซับซ้อนมาก" แต่ก็เปิดช่องว่า น่าจะมีการ "แบ่งปันผลประโยชน์"ร่วมกันโดยใช้โครงการ JDA (Joint Development Area) ระหว่างไทยและมาเลเซียเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ กัมพูชาพร้อมรื้อฟื้นการเจรจาที่ยืดเยื้อและชะงักงันมาปัดฝุ่นกันอีกครั้ง

กัมพูชาส่งสัญญาณพร้อมเจรจากรณีพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยอีกครั้ง

พนมเปญโพสต์ สื่อใหญ่ภาคภาษาอังกฤษของกัมพูชานำเสนอบทความในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) ระบุว่า รัฐบาลกัมพูชาพร้อมที่จะรื้อฟื้นการเจรจาว่าด้วยเรื่องพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claims Area หรือ OCA)ในอ่าวไทยกับรัฐบาลไทยอีกครั้ง หลังจากเจรจากันมาหลายครั้งก่อนหน้านี้แต่ชะงักงันและไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าจะดำเนินการเจรจามาหลายปีแล้วก็ตาม โดยพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่นั้นมีพื้นที่โดยรวมประมาณ 36,000 ตารางกิโลเมตรในทะเลอ่าวไทย และประมาณการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ราว 500 ล้านบาร์เรล

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย

ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาเปิดรับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวร่วมกันกับไทยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ที่สำคัญคือเพื่อที่ทั้งสองประเทศจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤตด้านพลังงานที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ หากไม่ลงมือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น

เม้ง สักธีระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา (ขอบคุณภาพจากพนมเปญโพสต์)

พนมเปญโพสต์อ้างอิงการแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ของนายเม้ง สักธีระ (Meng Saktheara) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ยอมรับว่า เมื่อพิจารณาทั้งในแง่มุมการเมืองและแง่เศรษฐกิจ การที่พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ทำให้การเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว หรือที่เรียกว่า OCA หรือ Overlapping Claims Area นั้นมีความ "ซับซ้อนอย่างมาก" 

 

นอกจากนี้ ยังยอมรับด้วยว่า แม้ผู้นำของทั้งสองประเทศจะพยายามเรียกร้องให้หาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวโดยไว แต่การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก

รัฐมนตรีของกัมพูชายังได้เสนอแนะให้ทั้งไทยและกัมพูชา ใช้แนวทางของโครงการ JDA (Joint Development Area) ระหว่างไทยและมาเลเซียเป็นต้นแบบ โดยโครงการดังกล่าวสามารถคลี่คลายการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยด้วยการทำข้อตกลงร่วมกันพัฒนาพื้นที่และแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน

 

"เราจะทำงานร่วมกันเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ความเป็นหุ้นส่วน และหลักการระหว่างประเทศ" รัฐมนตรีเม้งกล่าว 

 

ด้านนายเฉียบ ซาว (Cheap Sour) อธิบดีกรมพลังงานปิโตรเลียม กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา กล่าวยืนยันว่า กัมพูชามีความพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาว่าด้วยเรื่องพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว 

 

ทั้งนี้ พนมเปญโพสต์ยังรายงานด้วยว่า พื้นที่ OCA ในอ่าวไทยที่อ้างสิทธิโดยไทยและกัมพูชานั้น เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แม้จะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) ระหว่างกันในปี 2544 เพื่อร่วมกันสำรวจพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ต้องพับแผนไป (โดยฝ่ายไทย) ในปี 2552 หลังจากนั้นมา ก็ยังคงมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นการเจรจาอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันที่มีปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่ออุปสงค์ (ความต้องการใช้พลังงาน) และราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการทยอยเปิดประเทศของนานาประเทศทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เชื่อว่า หากรื้อฟื้นการเจรจาในช่วงเวลานี้ บริบทการเจรจาที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เกิดความคืบหน้าขึ้นได้ 

 

สื่อของกัมพูชายังได้อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับสื่อของไทยเมื่อเร็ว ๆนี้ด้วยว่า ไทยเองก็มีความต้องการหาแหล่งพลังงานสำรองไว้เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าหลังจากที่แหล่งพลังงานเดิมที่ไทยมีอยู่เริ่มมีปริมาณร่อยหรอ ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)จากต่างประเทศมาในราคาแพง จึงเชื่อว่าการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยจะช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานใหม่และจะทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงมาในระยะยาว 

 

ข้อมูลอ้างอิง