รัฐไฟเขียวงบ 554 ล้านจัดเลือกตั้ง “สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด” ครั้งแรกรอบ 6 ปี

29 ส.ค. 2565 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 20:43 น.
3.3 k

สภาเกษตรกรแห่งชาติ แจ้งข่าวดี รัฐไฟเขียว สั่งกระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศครั้งแรกในรอบ 6 ปี ใช้งบ 554 ล้านบาท ย้ำผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีสมุดทะเบียนเกษตรกร เล่มสีเขียว “สิทธิพร” ห่วงนักการเมืองท้องถิ่นสอบตกเข้ามาหาประโยชน์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในรูปของสภาเกษตรกร จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553  และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ถึงปัจจุบัน

 

มีโครงสร้างประกอบด้วย 1.ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด รวม 77 คน 2.ตัวแทนองค์กรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมง และด้านเกษตรกรรมอื่น ๆ รวม 16 คน คัดเลือกโดยสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 3. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพืช สัตว์ และประมง อย่างน้อยด้านละ 1 คน รวม 7 คน คัดเลือกโดยสมาชิกสภา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งหมดวาระไปตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันอยู่ในสถานะรักษาการ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางรัฐบาล ได้ให้มีการจัดการเลือกตั้งสภาเกษตรกรจังหวัดในปลายปีนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซึ่งทางสำนักงบประมาณให้ใช้งบประมาณปี 2566 วงเงิน  554 ล้านบาท  โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง

 

 

ทั้งนี้ได้มีการประชุมเตรียมการเลือกตั้งหลายครั้งแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการปกครอง, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องระเบียบสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร พ.ศ.2565

 

 

รัฐไฟเขียวงบ 554 ล้านจัดเลือกตั้ง “สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด” ครั้งแรกรอบ 6 ปี

 

ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 17.06 ล้านคน แบ่งเป็น ภาคกลางเกษตรกรมีสิทธิเลือกตั้ง 2.16 ล้านคน ภาคเหนือ 3.62 ล้านคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.96 ล้านคน และภาคใต้ 2.31 ล้านคน

 

รัฐไฟเขียวงบ 554 ล้านจัดเลือกตั้ง “สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด” ครั้งแรกรอบ 6 ปี

 

สอดคล้องกับนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 2 กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. สภาเกษตรฯ มีวาระ 4 ปี อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ รวมสูงสุด 8 ปี แต่ช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้ขอให้มีเลือกตั้งตั้งแต่ในขณะนั้น แต่นายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้ง

 

“ยังไม่ได้เคาะวันเลือกตั้งว่าจะเป็นวันไหน แต่มีระเบียบออกมาแล้วว่า จะใช้ระเบียบการเลือกตั้งใหม่เลือกผู้แทนระดับอำเภอ โดยตัดหมู่บ้าน และตำบลออก แล้วให้มีการหาเสียงแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเมื่อเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรระดับจังหวัด ก็จะก้าวสู่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ตามลำดับ”

 

 

ทั้งนี้อยากจะเห็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แบบการเมือง เพราะองค์กรนี้ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นจิตอาสาทำเพื่อพี่น้องเกษตรกร ดังนั้นจึงอยากเห็นตัวแทนจากเกษตรกรอย่างแท้จริง ความกังวลส่วนตัวเกรงจะมีนักการเมืองสอบตก หรือผิดหวังจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสมาชิกสภาจังหวัด(สจ.) เข้ามาสู่องค์กรนี้แล้วจะยุ่ง เพราะส่วนใหญ่จะมีผลประโยชน์แอบแฝง อย่างไรก็ดีในส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเป็นเกษตรกรที่มีสมุดทะเบียนเกษตรกร (สีเขียว) ที่ขึ้นทะเบียนกับเกษตรอำเภอ

 

อนึ่ง คุณสมบัติสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ตํ่ากว่า 25 ปีบริบูรณ์ เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี  ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

 

ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เคยจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ได้พ้นโทษดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28-31 สิงหาคม 2565