สศช. รับปี 2565 ไทย "ขาดดุลแฝด" ไม่หนักเท่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

15 ส.ค. 2565 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2565 | 00:09 น.
1.3 k

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ยอมรับการขาดดุลแฝด ปี 2565 หลัง สศช. แถลงตัวเลข GDP ประเมิน ปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% การันตี ไม่ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง ไม่ได้รุนแรง เพราะตัวเลขติดลบน้อย เชื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงกรณีการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) หรือ การขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ควบคู่กัน หลัง สศช. ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 โดยมีตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ต่อ GDP โดยระบุว่า

 

เข้าใจถึงความกังวลของหลายคนที่มองว่าจะกลายเป็นเหมือนกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เพราะช่วงนั้นก็เกิดกรณีการขาดดุลแฝดเหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่หลายคนกังวล และเชื่อว่า การขาดดุลแฝดครั้งนี้จะไม่ได้รุนแรงเหมือนช่วงต้มยำกุ้ง

ทั้งนี้หากพิจารณารายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงไปได้ดีต่อเนื่อง ถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับเครื่องชี้อื่น ๆ ยังคงขยายตัวได้ดี มีเพียงแค่บางตัวเท่านั้นที่หดตัว แต่ก็ไม่เป็นกังวล เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว

 

โดยช่วงที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่มีตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะส่งออกดี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาตลอด มีแค่ช่วง 2 ปีก่อนจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวหายไป

 

แต่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีถึง 18% ทำให้ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 ขาดดุลเล็กน้อยแค่ 2.2% แต่เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาได้เรื่อย ๆ ปัญหาดังกล่าวปรับตัวดีขึ้น

 

“ปัญหาการขาดดุลแฝดจะรุนแรงไหม จะเหมือนช่วงต้มยำกุ้งอีกหรือเปล่า ส่วนตัวมองว่าจะไม่รุนแรงแบบนั้น เพราะช่วงก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ประเทศไทยเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ติดต่อกัน 2-3 ปี จึงทำให้เกิดวิกฤตขึ้น แต่ตอนนี้ไม่เหมือนกัน”

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชา กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็น้อยมาก แถมทุนสำรองระหว่างประเทศปัจจุบันก็ยังสูง ไม่เหมือนตอนก่อนต้มยำกุ้งที่มีทุนสำรองไม่มากเหมือนตอนนี้ ซึ่งปัจจุบันฐานะการเงินการคลังประเทศยังดีอยู่ เพียงแต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

อย่างไรก็ตาม สศช. ได้มีข้อเสนอแนะถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

 

1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า 

 

2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 

 

3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ 

 

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า 

 

5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 

 

6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

 

7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

 

8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์