วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

14 ส.ค. 2565 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2565 | 21:43 น.
2.0 k

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่องยิ่งกดดันให้ไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันดิบและ LNG ต้องควักจ่ายเพิ่มขึ้น

 

วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

 

แน่นอนว่าต้นทุนเหล่านี้ได้สะท้อนกลับมายังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟของประชาชนที่จะต้องทบทวนให้สอดรับกับต้นทุนทุก ๆ 4 เดือนได้ปรับขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีและล่าสุดในงวดใหม่(ก.ย.-ธ.ค.) นี้ก็ต้องมาลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร

 

แต่ไม่ว่าจะออกมาแบบไหนค่า Ft งวดนี้ยังไงก็ต้องขึ้นแน่นอน ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชน(รวมค่าไฟฟ้าฐาน)อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย โดยการเปิดรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มี 3 อัตราคือ ปรับขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย  4.92 บาทต่อหน่วย และสูงสุดเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย

 

ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทำหน้าที่หลักในการช่วยแบกรับภาระค่า Ft  แทนประชาชนไว้ก่อนหน้านี้ไม่ให้ขึ้นสูงเกินไป ต้องควักเงินดูแลไปแล้วมากกว่าแสนล้านบาท จนต้องส่งสัญญาณว่าไม่อาจช่วยได้อีกต่อไป ท้ายสุดจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอลุ้นกัน

 

ค่าไฟฟ้าแพง ประกอบกับแนวโน้มโลกกำลังให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจของไทยต่างเสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ มารับมือทั้งการลดค่าใช้จ่ายและแสวงหาพลังงานสะอาดควบคู่กันไปเพื่อรับกติกาของโลกที่อาจกระทบธุรกิจในอนาคต

 

ธุรกิจหนึ่งที่โดดเด่นและเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่วันนี้ทั้งรายใหญ่ กลาง เล็กต่างหันมาติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์รูฟท็อป) ให้กับโครงการหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม พร้อมเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคทันที  เรียกว่าใครไม่ทำถือว่าตกเทรนด์ นับว่าตลาดที่อยู่อาศัยของไทยพลิกโฉมหน้าอีกครั้ง

 

วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

 

หนึ่งในผู้นำธุรกิจ “บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA” ที่มีผู้บริหารมืออาชีพ อย่าง ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ เผยว่า ได้เริ่มต้นพัฒนาหมู่บ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเมื่อกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้สามารถพัฒนาบ้านโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ และแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์  กลายเป็นผู้นำตลาดโซลาร์อย่างเต็มรูปแบบและเป็นเจ้าแรกของไทย

 

เกษรา  ธัญลักษณ์ภาคย์

 

ล่าสุดเสนายังจับมือ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)  นำอุปกรณ์ เข้ามาใช้ในโครงการบ้าน ไม่ว่าจะเป็น SMART PV INVERTER ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับมีโซลูชันอินเวอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน  ไม่ว่าจะเป็น PID Recovery  เป็นตัวช่วยฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพและลดการเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งนำฟังก์ชัน AFCI ป้องกันการเกิดไฟไหม้ ด้วยการตัดวงจร แบบอัตโนมัติมาใช้ในโครงการ นับเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง

 

วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

 

“เสนานำหลักการ Environment, Social, Governance หรือ ESG เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการที่ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานมาใช้ในโครงการหมู่บ้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การให้บริการชาร์จไฟฟ้า เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

 

จะเห็นว่าความสำเร็จของเสนาไม่เพียงทำให้ลูกบ้านได้ประหยัดค่าไฟโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (WHF) แต่ยังสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย(โซลาร์ภาคประชาชน) ในรอบแรกที่รัฐรับซื้ออัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยและต่อมาได้ปรับอัตราซื้อไฟเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย โดยในปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีลูกบ้านเสนายื่นเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ทั้งหมด 295 ราย คิดเป็น 891.67 กิโลวัตต์และจะยื่นเพิ่มเติมอีกในปีนี้

 

วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

 

อย่างไรก็ตามกระแสการติดตั้งโซลาร์ฯ ยังคงมาแรงทั้งโรงงาน ธุรกิจ และบ้านที่อยู่อาศัย แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เซนต์ต่อวัตต์ ล่าสุดขยับมาสู่ 30 เซนต์ต่อวัตต์ เป็นผลจากความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่จีนในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้ลดการผลิตลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์จากกระบวนการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงการนำเข้าแผงโซลาร์จึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้การผ่อนค่าติดตั้งโซลาร์ (ไฟแนนซ์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ผศ.ดร.เกษรา ชี้ว่า แม้ภาครัฐจะเพิ่มอัตรารับซื้อไฟจากโซลาร์ภาคประชาชนที่ 2.20 บาทต่อหน่วยแต่ต้นทุนที่สูงอาจไม่จูงใจให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์ฯเพิ่มขึ้นมากนักดังนั้น ค่าไฟเฉลี่ยปัจจุบันประชาชนจ่าย 4 บาทต่อหน่วย ถ้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองเท่ากับว่าประหยัดค่าไฟฟ้าไป 4 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อมีไฟฟ้าเหลือขายเข้าระบบ รัฐก็ควรจ่ายเงินคืน 4 บาทต่อหน่วยด้วยเช่นกัน และยังย้ำว่า ความคุ้มค่าของการติดตั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญคือ โซลาร์ฯผลิตไฟได้ดีช่วงกลางวันหากมีผู้อยู่อาศัยช่วงนี้ก็จะประหยัดได้ดีกว่า เป็นต้น

 

วิกฤติค่าไฟแพง พลิกโฉมที่อยู่อาศัยไทย แห่ติดโซลาร์ฯ รับเทรนด์โลกเปลี่ยน

 

นวัตกรรมโซลาร์ฯ ต่างประเทศมีการตื่นตัวมากพอสมควรเพราะเป็นพลังงานสะอาดช่วยขับเคลื่อนแผนลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี แต่หลายประเทศกลับไม่ได้โชคดีเหมือนไทยเพราะแสงแดดไม่แรงพอ แต่ที่น่าจับตาคือ นวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่กำลังเป็นความหวังให้โซลาร์ฯกลายเป็นพลังงานที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะเป็นตัวช่วยกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้แบตเตอรี่มีแล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องราคา หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่านวัตกรรมแบตเตอรี่ราคาต่ำ ประสิทธิภาพสูงจะมาในไม่ช้านี้ และนี่จะเป็นอีกก้าวของการปฏิวัติวงการบ้านโซลาร์รูฟท็อปอีกระลอกหนึ่งอย่างแน่นอน