ไทย-มาเลเซีย ประชุมทวิภาคีรอบ 6 ปี ตั้งเป้าการค้า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 68

09 ส.ค. 2565 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 23:02 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย ไทย-มาเลเซีย กระชับความร่วมมือ ประชุมทวิภาคีครั้งแรกในรอบ 6 ปี มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนหลากหลายมิติ ตั้งเป้าการค้า 30,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

9 สิงหาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 (The Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC)  และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย (The Joint Development Strategy (JDS) for Border Areas)  

 

ทั้งนี้ สำหรับร่างบันทึกการประชุมทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร หลังจากทั้งสองประเทศว่างเว้นการประชุมมานานกว่า 6 ปี

สาระสำคัญของร่างบันทึกการประชุมแต่ละฉบับ มีดังนี้ ฉบับแรก ร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกระดับทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยดำเนินการผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ

 

ด้านการเมืองและความมั่นคง

1.กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมมือแก้ไขประเด็นบุคคลสองสัญชาติและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

2.ขจัดการลักลอบค้ายาเสพติด

3.ความร่วมมือด้านการทหาร

ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

1.ตั้งเป้าการค้าร่วมกันที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

2.อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนข้ามแดน

3.เชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ทางเหนือของมาเลเซีย

4.ร่วมมือด้านแรงงาน โดยไทยขอให้มาเลเซียพิจารณาการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานในมาเลเซีย

 

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

1.ให้มีการแข่งขัน Goodwill Games ต่อไป ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับ 6 รัฐ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย

2.สร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรม

3.รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรทางธรณีวิทยาตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัลด้วย QR ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

 

ฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย มีสาระสำคัญ อาทิ

 

1.จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย ปี ค.ศ.2022-2026 เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายแดน

 

2.เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้รอยต่อตามพื้นที่ชายแดน เช่น เร่งรัดการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ - ด่านบูกิตกายูฮิตัม บูรณาการเชื่อมต่อรถไฟทางคู่เส้นทางระหว่างเมืองอีโปห์ - เมืองปาดังเบซาร์ และเมืองปาดังเบซาร์ - อำเภอหาดใหญ่ เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้าโก-ลกแห่งใหม่ ที่อำเภอตากใบ - เปิงกาลันกุโบร์ และสะพานมิตรภาพสุไหงโกลก - รันเตาปันยัง แห่งที่ 2

 

3.เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยในพื้นที่ฝั่งไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ที่ จังหวัดสงขลา เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนราธิวาส ที่จะจัดตั้งใหม่ 

 

4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร

  • จัดอบรมทักษะอาชีพ การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย
  • แลกเปลี่ยนการพัฒนาระบบการเงินอิสลาม และบทบาทของสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม MSME และนักธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดน