"GPSC" กำไรพุ่ง 118% ไตรมาส 2/65 รับอนิสงส์ค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.

08 ส.ค. 2565 | 20:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 03:14 น.

"GPSC" กำไรพุ่ง 118% ไตรมาส 2/65 รับอนิสงส์ค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค. หลังผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแผนการผลิต การบริหารจัดการต้นทุนทุกหน่วย

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 2/65 ว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 27,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปี 2565 (QoQ) ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 684 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118% 

 

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้น จากอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ค่าเอฟที (Ft) ที่ปรับเพิ่มขึ้น จาก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 

 

รวมถึงปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และการรับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ให้แก่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 5 ที่สามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ตามปกติ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม

 

จึงส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน กำไรขั้นต้นของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากค่าความพร้อมจ่าย (AP) สาเหตุมาจากไตรมาส 2/65 โ รงไฟฟ้าเก็คโค่วันมีการหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนลดลง

 

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีกำไรสุทธิลดลง 70% ปัจจัยจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้กำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง  และมีปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำลดลงเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) เพิ่มขึ้น จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. ทำให้มีรายได้จากค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) เพิ่มขึ้น 

 

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น
จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของการ Synergy ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้มูลค่าจากการควบรวบกิจการสุทธิหลังภาษีมูลค่า 561 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2565  ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการการผลิตและการใช้โครงข่ายไอน้ำร่วมกันที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า การบริหารจัดการเรื่องหุ้นกู้ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

      
“จากราคาค่าเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อการบริหารจัดการ รวมถึงการวางแผนและให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต หรือ Optimization และยังคงมุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Synergy เพื่อบริหารจัดการการผลิต ผ่านโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน รวมทั้งวางแผนการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นอันดับแรก หรือ Merit Order เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด” 

 

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย บริษัทฯ ยังคงติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญในมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มข้น เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคมีเสถียรภาพ เพื่อการส่งมอบลูกค้าให้เป็นไปตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง 

 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จาก 3.2% ในเดือนมีนาคม 2565 เป็น 3.3% โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 มาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ 

 

และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากระดับราคาพลังงาน ราคาสินค้า และค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565