ครม.จัดงบ 1,249 ล้าน แจกชุมชนทำอาชีพเสริม ทำไม้กวาด ตัดผม สร้างแบรนด์

02 ส.ค. 2565 | 14:17 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 21:27 น.

ครม.อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ทำไม้กวาด ตัดผม ช่างซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า สร้างแบรนด์สินค้า ทำแผนการเงินครังเรือน หวังเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม และอนุมัติงบกลางปี 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท  ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กลุ่มเป้าหมายแยกเป็น กลุ่มผู้รับประโยชน์โดยตรง จะเป็นคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้แก่ ผู้ประกอบการOTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น 

 

รวมทั้งประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน และผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังโควิด-19

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้จะจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลางคือที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 

 

หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจ้านเป็นต้น จำนวน 350,000 คน วงเงิน 529.9 ล้านบาท  

 

หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า ตัดผม จำนวน 40,000 คน วงเงิน 67.56 ล้านบาท

 

หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง จำนวน 270,000 คน วงเงิน 476.28 ล้านบาท

 

หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือนหรือ ภาคธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น จำนวน 40,000 คน วงเงิน 48.56 ล้านบาท 

 

รวมทั้งมีค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามและประเมินผลโครงการ ค่าเปิดตัวโครงการ (Kick Off) ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน วงเงิน 126.99 ล้านบาท