ดีเดย์ปี 66 ทอท.เล็งประมูล ดอนเมือง เฟส 3 กว่า 3.68 หมื่นล้าน

21 ก.ค. 2565 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 19:19 น.
674

ทอท.เดินหน้าจ้างที่ปรึกษาสร้างดอนเมืองเฟส 3 กว่า 3.68 ล้านบาท จ่อชงครม.ไฟเขียวของบลงทุนปีนี้ หลังสภาพัฒน์เปิดทาง เล็งเปิดประมูลกลางปีหน้า เริ่มก่อสร้างปลายปี 66 คาดเปิดให้บริการปี 69 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829 ล้านบาท ขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Design&Build) ของโครงการฯ วง เงิน 600 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้ในช่วงที่อยู่ระหว่างการออกแบบศึกษาฯนั้น ทอท.จะเสนอแผนรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อขออนุมัติเงินลงทุนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว

 

 

หากเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนได้รับความเห็นชอบแล้ว จะสอดรับกับการจ้างที่ปรึกษาออกแบบฯแล้วเสร็จก็พร้อมประมูลได้ คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาภายในกลางปี 2566 หลังการประมูลหาผู้รับจ้างแล้วเสร็จ จะใช้ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อลงนามสัญญาร่วมกับผู้รับจ้างที่ชนะการประมูลในการขอเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง จะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และจะเปิดให้บริการภายในปี 2569 ซึ่งจะรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กลับมาในปี 2570 อีกครั้ง

 

 

 

 “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทอท.ได้รับผลกระทบเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารลดลง ทำให้การออกแบบการก่อสร้างจะต้องดูให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทในยุคใหม่ที่จะต้องมีการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการและผู้โดยสาร รวมทั้งต้องมีพื้นที่รองรับให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น”

นายกีรติ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 นั้นทางทอท.ไม่ได้คาดหวังปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการคาดหวังในการปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาทอท.ได้มีการใช้อาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic) และอาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 1 รองรับผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ (Inter) ซึ่งปัจจุบันมีสภาพอาคารที่ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรม ทำให้เกิดปัญหาความแออัดค่อนข้างเยอะ ดังนั้นการก่อสร้างโครงการฯนี้จะเป็นการปรับปรุงอาคารให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานท่าอากาศยานชั้นนำในอนาคต

 

 

 

ทั้งนี้ทอท.จะมีการปรับปรุงอาคารทั้ง 2 แห่งรวมกัน เพื่อรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic) จะทำให้การบริการภายในอาคารมีพื้นที่เพียงพอไม่เกิดความแออัดของปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาทอท.ได้ดำเนินการปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สผ.) อนุมัติเห็นชอบแล้ว

 

 

 หากผู้รับสัมปทานจะดำเนินการปรับ ปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม เบื้องต้นผู้รับสัมปทานต้องเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบเอง สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เป็นการออก แบบเพื่อรองรับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เบื้องต้นมีการปรับปรุงอาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 1 เป็นอาคารรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ จากเดิมที่ปัจจุบันเป็นอาคารรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับอาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ทอท.จะปรับปรุง อาคารคลังสินค้าหลังที่ 1 และอาคารคลังสินค้าหลังที่ 2 เนื่องจากอาคารคลังสินค้าทั้ง 2 แห่ง มีสภาพเก่าและมีหลายจุดที่มีปัญหา ทำให้ไม่สามารถใช้งานอาคารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่การให้บริการ พื้นที่รองรับสินค้าและงานระบบต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดให้บริการอาคารคลังสินค้าหลังที่ 1 ในรูปแบบการให้บริการทั้งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศโดยสินค้าระหว่างประเทศจะเป็นสินค้าในลักษณะคลังสินค้าทัณฑ์บน ขณะเดียวกันสินค้าที่นำเข้ามาหากเจ้าของยังไม่ต้องการนำมาจำหน่ายภายในประเทศจะถูกฝากไว้ในคลังโดยไม่เสียภาษี ส่วนอาคารคลังสินค้าหลังที่ 2 ปัจจุบันเป็นพื้นที่ขนส่งสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานแต่มีการเปิดใช้งานสำหรับสำนักงานเพียงบางส่วนเท่านั้น

 

 

 

อย่างไรก็ตามทอท.จะมีการปรับปรุงทางเข้า-ออก บริเวณทางเชื่อมกับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทรลเวย์ จาก 2-4 ช่องจราจรเป็น 5-6 ช่องจราจรและอาคาร จอดรถและก่อสร้างอาคารสำนักงานโดยย้ายอาคารสำนักงานอย่างด้านทิศเหนือเพื่อแยกพื้นที่สัญจรออกจากผู้โดยสารและก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนอาคารเดิมที่ทรุดโทรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สำหรับพนักงาน ตลอดจนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายใน เพื่อให้มีความสะดวกมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้เหมาะสมกับเครื่องบินในปัจจุบันเป็น 138 หลุมจอด จากเดิมมี 108 หลุมจอด และติดตั้งสะพานเทียบ เป็น 44 จุด จากเดิม 27 จุด เพื่อรองรับอากาศยานต่อไป