วันที่ 19 ก.ค.2565 ที่สวนอินทผลัมโคราช เลขที่ 261 หมู่ที่ 13 หมู่บ้านอ่างห้วยยาง ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายประทิน อภิชาตเสนีย์ เจ้าของสวนอินทผลัมโคราช เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน และอุปนายกสมาคมผู้ปลูกอินทผลัม ได้นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมสวนอินทผลัม ที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากในเวลานี้ โดยปีนี้ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ
นายประทิน อภิชาตเสนีย์ เจ้าของสวนอินทผลัมโคราช และอุปนายกสมาคมผู้ปลูกอินทผลัม เปิดเผยว่า สวนอินทผลัมโคราชตั้งอยู่บนพื้นที่ 40 ไร่ เป็นของตนเองและญาติพี่น้อง ปลูกอินทผาลัมรวมจำนวน 1,000 ต้น โดยเป็นสวนอินทผลัมสวนแรกของจังหวัดนครราชสีมา จากเดิมเป็นพื้นที่ดังกล่าวปลูกมันสำปะหลังมาก่อน กระทั่งปี 54 จึงหันมาปลูกอินทผลัมด้วยการเพาะเมล็ด
เนื่องจากผลผลิตไม่ดีและกลายพันธุ์รสชาติไม่ดี จึงเปลี่ยนมาปลูกจากต้นพันธุ์ที่เพาะเนื้อเยื่อพันธุ์บาฮี ในปี 2559 ทั้งหมด เหลือต้นพ่อพันธุ์ไว้ประมาณ 4-5 ต้นเท่านั้น การให้น้ำจะใช้ระบบปริงเกอร์เพื่อให้กระจายให้ทั่วโดยสวนอินทผลัมโคราชเป็นสวนปลอดสารเคมี ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตระยะเวลา 3 เดือนจะไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด อินทผลัมที่สวนจึงสามารถเด็ดจากต้นกินได้เลย
สำหรับความโดดเด่นของอินทผลัมที่นี้ คือ “หวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยจากสารเคมี” ศัตรูสำคัญคือ ด้วงงวง และเชื้อรา หากแดดไม่ดีน้ำไม่ถึงก็จะทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดีเต็มที่ แต่ปีนี้ถือว่าผลผลิตดีระดับหนึ่ง เพราะเจอฝนมากในปีนี้ ซึ่งอินทผลัมจะทยอยสุกและเริ่มตัดขายได้ตั้งแต่อกลางเดือนก.ค – ส.ค. คาดว่าในปีนี้จะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
เวลานี้ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ กก.ละ 200-300 บาท ตลาดหลักคือเปิดขายหน้าสวน ซึ่งจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมสวน เพราะภายในสวนจะมีร้านกาแฟ มีจุดให้ถ่ายรูปหลายจุด อีกช่องทางคือขายผ่านออนไลน์ และขายที่ตลาดไทยก่อนกระจายไปทั่วประเทศ
นายประทิน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกอินทผลัมเป็นจำนวนมาก คาดว่าผลผลิตต่อปีหลายร้อยตัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรคือด้านการขยายตลาด เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่ยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทยได้ ซึ่งมีผลต่อการส่งออกและการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
ขณะนี้ทางสมาคมผู้ปลูกอินทผลัม ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้กระทรวงเกษตรกรฯ บรรจุให้อินทผลัมให้เป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย เพื่อให้อินทผลัมส่งออกขายในต่างประเทศได้ จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม ได้มีโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลยเซีย หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน ทราบว่าขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่าในเร็ว ๆ นี้น่าจะได้คำตอบ นายประทินกล่าว
ด้านนางอรณัส การสรรพ์ เกษตรอำเภอปักธงชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกอินทผลัมมากขึ้น หากมองเรื่องการตลาดนำการผลิต ขณะนี้ผู้เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องการตลาด เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดจำหน่ายได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น
หากมีการบรรจุให้อินทผลัมเป็นพืชที่ปลูกได้ในประเทศไทย จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกร เพราะขณะนี้ผลผลิตของเกษตรกรพร้อมแล้วในทุกด้าน ทั้งคุณภาพและปริมาณการผลิตมีศักยภาพในการส่งออกแล้ว ฉะนั้น จึงอยากฝากท่านผู้ใหญ่ได้ช่วยดำเนินการผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อเกษตรกรจะได้เดินหน้าต่อไป