ราคาน้ำมันปาล์ม ลดราคาลงอีกขวดละ 3-4 บาท สัปดาห์นี้ ไก่-หมู ตามมา

18 ก.ค. 2565 | 13:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 20:17 น.

รองนายกฯ แจ้งก่อนประชุมครม.วันนี้ ราคาน้ำมันปาล์ม เตรียมลดราคาลงอีกขวดละ 3-4 บาท ภายในสัปดาห์นี้ หลังกรมการค้าภายใน ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการแล้ว เช่นเดียวกับราคาไก่-หมู ก็มีแนวโน้มลดราคาลงตามมา

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ภายในสัปดาห์นี้ ทางกรมการค้าภายในได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการว่า ราคาน้ำมันปาล์มขวดจะลดลงอีก 3-4 บาท อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องจากในสัปดาห์ที่แล้วราคาขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ปรับลดลงมา 5-6 บาท โดยการดำเนินการดังกล่าวอยุ่ภายใต้มาตราการเข้าดูแลค่าครองชีพประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมขับเคลื่อนอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการจัดจำหน่าย

 

โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับสูงขึ้นอย่างมาก แต่สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ หรือแม้มีการปรับขึ้นก็อยู่ในวงจำกัด 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ คาดว่า ราคาไก่สด จะปรับลดลง หลังจากที่ได้หารือกับโรงชำแหละรายใหญ่ ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือ โดยช่วงก่อนหน้าที่ราคาไก่สดปรับสูงขึ้นเนื่องจาก ส่วนประกอบของอาหารสัตว์เช่น ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก 

 

ขณะที่ราคาเนื้อหมู จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ยืนยันให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ที่จะรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม แม้ต้นทุนการเลี้ยงยังคงสูง

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายจุรินทร์ ได้สั่งการเรื่องควบคุมดูแลราคาสินค้า ซึ่งสินค้าบางตัวจะเป็นการดำเนินการในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพราะต้นทุนสินค้าหากนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงขึ้น ก็อาจมีการปรับขึ้นบ้างหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสินค้าหลายตัวผู้ประกอบการ และผู้จัดจำหน่าย ได้ให้ความร่วมมือด้วยการตรึงราคาสินค้าไว้ 

 

โดยกระทรวงพาณิชย์มีการใช้นโยบายวิน-วินโมเดล คือต้องดูปริมาณสินค้าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนอาจเป็นปัญหาต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ และผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป