ปาล์มป่วนพาณิชย์ไล่ตรวจสต๊อก ชาวสวนลั่นห้ามตํ่ากว่า 7 บาท

14 ก.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 19:38 น.
1.2 k

ตลาดปาล์มป่วน ราคาผลปาล์มลดฮวบแต่น้ำมันปาล์มขวดยังยืนสูง โรงงานอ้างเป็นสต๊อกเก่าช่วงราคาแพง พาณิชย์บี้ตรวจสต๊อกบีบลดราคาตามต้นทุน ด้านชาวสวนปาล์มโวยโรงสกัดกดราคาดิ่ง เพื่อถัวต้นทุนหวังส่งออก ขีดเส้นห้ามต่ำกว่าก.ก.ละ 7 บาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลายเดือนที่ผ่านมาราคาผลปาล์มสูงขึ้นมาก จากกิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาทกว่า เป็น 4-5 บาท ต่อกก. และขึ้นไปถึง 11-12 บาท ซึ่งเกษตรกรได้รับประโยชน์มาก แต่ในช่วงปลายเดือนที่แล้วราคาผลปาล์มปรับตัวลดลง เนื่องจากอินโดนีเซียหันมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง 

 

แต่มีคำถามว่า ทำไมราคาน้ำมันปาล์มขวดเพื่อบริโภคยังสูงอยู่ เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อเนื่อง พบว่าราคาที่ยังทรงตัวระดับสูงอยู่ เพราะเป็นสต๊อกเดิมที่รับซื้อวัตถุดิบในช่วงที่ราคาผลปาล์มสูงมาก

ปาล์มป่วนพาณิชย์ไล่ตรวจสต๊อก ชาวสวนลั่นห้ามตํ่ากว่า 7 บาท

ปาล์มป่วนพาณิชย์ไล่ตรวจสต๊อก ชาวสวนลั่นห้ามตํ่ากว่า 7 บาท

ทั้งนี้ได้สั่งกรมการค้าภายในไปแล้วก่อนหน้านี้ ในการกำกับดูแลเพื่อให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดลดลง ให้สอดคล้องกับต้นทุนให้เร็วที่สุด และวันนี้ (12 ก.ค.2565) จะมีตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่สำรวจล่าสุด ว่าอยู่ในปริมาณเท่าใด และราคาน้ำมันปาล์มจะสามารถปรับลดราคาได้เมื่อไหร่ ซึ่งคาดจะเป็นในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้น

 

ด้านนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จาการตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 180,000 ตันเศษ ซึ่งไม่ได้สูง เพราะยังไม่เกิน  200,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตปาล์มก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปาล์มป่วนพาณิชย์ไล่ตรวจสต๊อก ชาวสวนลั่นห้ามตํ่ากว่า 7 บาท

ปัญหาราคาผลปาล์มลดลง เกิดจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 40 กว่าบาทต่อกิโลกรัม เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่ 39 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เอกชนส่งออกไม่ได้เพราะสูงกว่า พอส่งออกไม่ได้โรงงานปาล์มน้ำมันทุกโรง ต้องลดราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรลงมา เพื่อเอาไปเฉลี่ยกับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเดิม ที่ต้นทุนสูงที่ประมาณ 42-43 บาทต่อกิโลกรัมให้ถูกลง จะได้ส่งออกได้

 

นายสิทธิพร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ได้มีโอกาสเข้าพบกับนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ และหารือถึงปัญหาดังกล่าว โดยหากราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้มีราคาต่ำกว่า 7 บาทต่อกิโลกรัม ชาวสวนปาล์มจะอยู่ไม่ได้ เพราะเวลานี้มีต้นทุนปุ๋ยที่แพงขึ้นมาก จึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าราคาต่ำกว่า 7 บาทต่อกิโลกรัมต้องมานั่งคุยกัน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯต้องเข้ามาร่วม เพื่อหาทางออกกันต่อไป

 

ขณะที่นายชัยวุฒิ จิตต์นุพงศ์ นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นอกจากนี้กลัวกันว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งปาล์มใหญ่ อายู 20 ปีขึ้นไป ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น ยิ่งจะกดราคาผลปาล์มลงไปอีก  แม้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบจะยืนยันว่า ราคารับซื้อจากชาวสวนจะไม่ต่ำกว่า 7 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม

 

เวลานี้ปุ๋ยขึ้นราคาเพิ่มไปกว่าเท่าตัว และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ข้อมูลทางวิชาการของทางราชการ ก็ประเมินต้นทุนปุ๋ยว่าเดิมอยู่ที่ 2.90 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 33.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถรับได้ เพราะการผลิตปาล์มมีต้นทุนปุ๋ยถึง 40% ถ้าปุ๋ยแพงขณะที่ราคาผลผลิตตกลงมาก คาดว่าอีก 2-3 เดือนจะมีปัญหาจากราคาผลปาล์มตกต่ำ

 

 “ทางโรงงานรับซื้อผลผลิตปาล์มจากเกษตรกรเขาอ้างอิงราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมากำหนดเป็นราคารับซื้อจากเกษตรกร” นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าว
 ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.เมื่อ5 ก.ค.2565 อนุมัติส่งออกปาล์มน้ำมัน 150,000 ตัน ภายในก.ย.2565 เมื่อระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยรัฐจะอุดหนุนค่าบริหารจัดการการส่งออก วงเงิน 309 ล้านบาท เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน

 

ตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ณ เดือนมิ.ย.2565 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุ มีน้ำมันปาล์มดิบรวม 154,243 ตัน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มี 189,048 ตัน หรือลดลง 18.41%

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14-16 กรกฎาคม พ.ศ.2565