วิตกปาล์มดิ่งชาวสวนจี้รัฐประกาศความชัดเจนนโยบาย"ไบโอดีเซล"

01 ก.ค. 2565 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 20:30 น.
964

ชาวสวนวิตกอนาคตปาล์มน้ำมัน ชี้ 3 ปัจจัยฉุดราคา ทั้งปัญหาปุ๋ยเคมีแพงและขาด ความไม่ชัดเจนนโยบายไบโอดีเซลของรัฐ ในสถานการณ์น้ำมันแพง รวมถึงการซื้อขายปาล์มน้ำมันล่วงหน้าของกลุ่มทุน ขณะต้นทุนจ่อพุ่งจากราคาปัจจัยการผลิตเพิ่ม ชี้หากต่ำกว่า 8 บาทต่อก.ก.จะรับไม่ไหว 

ปัญหาน้ำมันแพง ขณะที่กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาน้ำมันได้จำกัดขึ้นเรื่อย ๆ จากภาระขาดทุนสะสมทะลุ 1 แสนล้านบาทไปแล้ว แนวทางหนึ่งที่ถูกเสนอถี่ขึ้นเรื่อย ๆ คือ ลดสัดส่วนไบโอดีเซลลง หรือบางครั้งถึงกับเสนอให้ถอดออกไปเลย ขณะที่ราคาปาล์มเริ่มปรับลดสู่ระดับสิบบาทลงมา นั้น    นายชัยฤทธิ์  ถ่ายย้วน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้เชื่อว่ามั่นว่าราคาปาล์มจะยืนอยู่ที่ 7-10 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) 

 

โดยมีปัจจัยบวกหลายอย่าง เช่น ทั่วโลกขาดแคลนน้ำมันสำหรับบริโภค โดยน้ำมันจากถั่วเหลืองผลิตได้น้อยลง ยังต้องอาศัยน้ำมันปาล์มจาก 3 ประเทศผู้ส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย ผลิตได้ 45 ล้านตันต่อปี มาเลเซีย 25 ล้านตัน และไทย 3 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก 72 ล้านตันต่อปี

วิตกปาล์มดิ่งชาวสวนจี้รัฐประกาศความชัดเจนนโยบาย\"ไบโอดีเซล\"

สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้คือ ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นมาก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ขนาด 50 กิโลกรัม เดิมกระสอบละ 345บาท วันนี้กระสอบละ 1,800บาท  ปุ๋ย DAT 18460 จากราคากระสอบละ 775 บาท ขึ้นเป็น 2,000 บาท และปุ๋ย MOP 0060 เดิมราคากระสอบละ 625 บาท ขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็น 1,800 บาท โดยปาล์มน้ำมันหากไม่ใส่ปุ๋ยจะไม่ให้ผลผลิต

 

"อีกประการคือ นโยบายพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ที่กำหนดให้นำน้ำมันปาล์มมาผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งได้ประสบกัญหาจากน้ำมันปาล์มมีราคาแพง ยิ่งดันให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้น ต้องปรับลดสัดส่วนลงจาก B10 และ B7 ลงเป็น B5 และล่าสุดว่าจะทำเหลือแค่ B3 หรืออาจจะถอดออกไปเลยในที่สุดก็เป็นไปได้ ซึ่งจะยิ่งกดราคาปาล์มลงไปอีก"

วิตกปาล์มดิ่งชาวสวนจี้รัฐประกาศความชัดเจนนโยบาย\"ไบโอดีเซล\"

นายชัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เวลานี้หากราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงมานั้น จะต้องไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อก.ก.ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ซึ่งเวลานี้ห่วงกันมากเรื่องปุ๋ย ทั้งเรื่องราคาที่สูงขึ้นมาก และขาดแคลน หากหามาใส่ปาล์มไม่ได้ก็จะไม่มีผลผลิต     

 

ด้านเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ระดับ 3,000  ไร่ ในพื้นที่ตรังและกระบี่ กล่าวว่า  สถานการณ์ราคาพืชผลทางด้านการเกษตรในประเทศไทยไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนจะเป็นผู้กำหนดราคา โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมัน เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันใจชื้น เมื่อราคาผลปาล์มน้ำมันหน้าโรงงานขายได้กิโลกรัมละ 12 บาท แต่ราคายืนอยู่ได้ไม่นานก็ผันผวนลดลงมาเหลือ 10 บาท และ 8 บาทต่อกิโลกรัม 

 

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำสวนปาล์น้ำมันคือปุ๋ย  เมื่อราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายไบโอดีเซล โดยนำน้ำมันปาล์ม(B100) ไปผสมกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ทำให้ราคาผลปาล์มดิบได้ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อปุ๋ยเคมีประกาศขึ้นราคาและขาดแคลน เกษตรกรก็ทุกข์ใจ กำไรจากการขายปาล์มน้ำมันถูกแบ่งไปให้ผู้ค้าปุ๋ยเคมีทัน  ซ้ำเติมด้วยรัฐบาลออกนโยบายลดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซล จาก B20 B10 ลงเหลือ B7 และมีแนวโน้มจะลดสัดส่วนลงมาอีก ในอนาคตอาจจะไม่ใช้น้ำมันปาล์มผสมในน้ำมันดีเซลแล้ว ซึ่งจะยิ่งกระทบเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน 

 

รัฐบาลจึงควรต้องยืนยันความชัดเจน มั่นคง และยั่งยืน ของนโยบายพลังงานของชาติ ในการกำหนดให้ใช้ไบโอดีเซล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว เช่น เป็นน้ำมันทางเลือกในภาวะสงคราม ไม่มีน้ำมันดิบ หรือขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถใช้ไบโอดีเซลมาแก้ไขสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง

 

ปัจจัยที่กระทบราคาปาล์มน้ำมันทำให้ผันผวนอีกประการ คือ การลงทุนเล่นตั๋ว หรือซื้อขายเก็งกำไรน้ำมันปาล์มล่วงหน้าของกลุ่มทุน ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มที่ซื้อขายตั๋วในอนาคต จะสวนทางกับราคาน้ำมันปาล์มจริงในตลาด ขณะที่นโยบายพลังงานของรัฐโดยเฉพาะเรื่องไบโอดีเซลก็ไม่ชัดเจน  สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้