สะพัด! “อินเดียแจก-ขายข้าว” ราคาถูกช่วยคนจนพ่นพิษแย่งตลาดไทย

18 ก.ค. 2565 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 19:17 น.
1.7 k

นโยบายรัฐอินเดีย “แจก-ขายข้าวราคาถูก” ช่วยคนจน พ่นพิษ โรงสี -ผู้ส่งออกไทย ถึงบางอ้อ เหตุพ่อค้าอินเดียขายข้าวดัมพ์ตลาดโลก ต่ำกว่าไทย 100 ดอลลาร์ต่อตัน ชี้ขัด WTO หรือไม่ นายกฯ โรงสีอีสาน เปิดสูตรคำนวณ คนกว่า 1,200 ล้าน ทั้งข้าวแจกฟรี พ่วงโควต้าซื้อในราคาถูก ขายเท่าไรก็ได้

กรณีราคาข้าวขาว 5% ของอินเดียในตลาดโลก ช่วงที่ผ่านมา ราคาถูกกว่าข้าวไทยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแจ้งว่า ทราบข่าวรัฐบาลอินเดียมีนโยบายแจกข้าวฟรีแก่คนจนประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร เพื่อหวังคะแนนเสียงสู่การเลือกตั้งสมัยหน้า แต่อีกด้านหนึ่งมีผลให้ข้าวกลุ่มนี้ทะลักขายทั่วโลก ความจริงเป็นอย่างไรนั้น

 

 

ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ได้รับข้อมูลว่า รัฐบาลอินเดียมีนโยบายแจกข้าวฟรีให้กับคนจน ปริมาณต่อคนต่อเดือนเป็นข้าวสาร 2 กิโลกรัม (กก.) และข้าวสาลี 3 กก.   ทั้งนี้บางเดือนอาจจะแจกเพิ่มเป็น ถั่ว (Dal) 2 กก. และน้ำตาล 2 กก. และหากต้องการซื้อเพิ่มต่อเดือน สามารถซื้อได้ในราคาพิเศษ โดยข้าวสารไม่เกินคนละ 2 กก. กก. ละ 2 รูปี และข้าวสาลีไม่เกินคนละ 2 กก. กก. ละ 3 รูปี

วิชัย ศรีนวกุุล

 

นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า จากนโยบายดังกล่าว หากคำนวณจากประชากรชาวอินเดีย 1,200 ล้านคน  กรณีหากถ้าใช้สิทธิ์ทุกคนซื้อ เท่ากับ 1.2 ล้านตันต่อเดือน หาก ซื้อ 2 กก. เท่ากับ 2.4  ล้านตัน แล้วถ้าบวกให้ฟรีอีกคนละ 2 กก. เท่ากับกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งข้าวจำนวนนี้เหมือนได้ฟรี ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีข้าวรับประทานจากการปลูกเองอยู่แล้ว ดังนั้นหากเอาข้าวที่เหมือนได้ฟรีไปขายให้ผู้ค้าข้าว สามารถขายราคาถูกเท่าไรก็ได้

 

 

“ตั้งข้อสังเกตว่ามีการกระทำในลักษณะนี้หรือไม่เพราะข้าวอินเดียราคาห่างจากไทยมากผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา โดยหากเขานำมารวบรวมส่งออกจะผิดกฎ WTO (องค์การการค้าโลก) เรื่องการอุดหนุนการส่งออกหรือไม่ พอข่าวออกมาแบบนี้ทำให้ทุกคนถึงบางอ้อ คลายปริศนา รู้คำตอบทันทีว่าทำไมพ่อค้าอินเดียถึงขายข้าวในราคาถูก ท่ามกลางวิกฤติสงคราม โควิด น้ำมัน ปุ๋ย สารเคมี ราคาแพงทุกตัว ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งสวนทาง กับความเป็นจริง”

วิชัย ศรีประเสริฐ

 

สอดคล้องนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า จากที่ได้รับฟังมาในหมู่พ่อค้าที่เป็นเทรดเดอร์ อินเดียมีนโยบายแจกข้าวปีละ 20 ล้านตันข้าวสาร คนยากจนบางส่วนก็ขาย บางส่วนก็รับประทาน เพราะฉะนั้นพ่อค้าจึงได้ข้าวที่ราคาถูกมาก ทำให้ได้เปรียบไทยในการแข่งขันส่งออกในตลาดโลก ขณะที่สต๊อกข้าวของอินเดียที่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่วงการค้าข้าวประเมินมีประมาณกว่า 50 ล้านตัน

 

ขณะที่ผลผลิตข้าวไทย คาดจะต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่ปลูกข้าวทั้งหมด ส่วนเกษตรกรที่เก่งที่สุด ประเทศจีนสามารถพัฒนาได้ผลผลิตต่อไร่สูง มีพันธุ์ข้าวที่ปลูกในน้ำกร่อยได้ ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปสอนที่ประเทศซาอุดิอาระเบียให้สามารถปลูกข้าวได้ในทะเลทราย โดยนำน้ำกร่อยมาใช้ในการปลูก ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1,000 กิโลกรัม

 

 

สะพัด! “อินเดียแจก-ขายข้าว” ราคาถูกช่วยคนจนพ่นพิษแย่งตลาดไทย

 

ปัจจุบันราคาข้าวถูกลง แต่ประเทศไทยได้เน้นเรื่องการเพิ่มผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะยิ่งทำให้ราคาข้าวตกต่ำหรือไม่ นายวิชัย กล่าวในประเด็นนี้ว่า สินค้าตัวไหนมีราคาถูกจะยิ่งขายได้ง่าย ไม่ใช่ขายถูกแล้วขาดทุน ขายถูกเพราะได้กำไร เพราะต้นทุนดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่สูง จะทำให้ต้นทุนถูกลง ขายได้มาก แล้วจะทำให้ขายได้กำไรด้วย และนี่คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิต

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เผยว่า อีกด้านหนึ่งในเวลานี้ ผู้ค้าข้าวของเวียดนามได้รุกตลาดหนัก มีการส่งออกข้าวหอม ST และ LT28 ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในตลาด บรรจุถุงขายบนชั้นวางที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู)  สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวเวียดนามในตลาดนานาชาติ หากไทยไม่ทำอะไรเลยจะถูกข้าวเวียดนามแย่งตลาดไปเรื่อยๆ

 

 

 

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลพยากรณ์ผลผลิต ข้าวนาปี ปี 2565 (ปีเพาะปลูก 2565/66) ว่า เนื้อที่เพาะปลูกคาดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย จากปีนี้ฝนมาเร็ว และมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จึงคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ สามารถขยายเนื้อที่เพาะปลูกได้ ประกอบกับราคาข้าวเปลือดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งเกษตรกรคาดหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการปลูกเพิ่มในพื้นที่นาที่ปล่อยว่างเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีเนื้อที่เพาะปลู รวมกว่ากว่า  62.8 ล้านไร่ เพิ่มจากปีก่อน 0.03%

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม 2565