ครึ่งปี 65 ส่งออกข้าวไทย โคม่า “อินเดีย-เวียดนาม” แย่งตลาด

05 มิ.ย. 2565 | 17:41 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2565 | 00:41 น.
4.3 k

อัพเดท ส่งออกข้าวครึ่งปี 2565 โคม่า ไทยโดนแย่งตลาด "อินเดีย" ข้าวขาว ชนิด 5% & "ข้าวนึ่ง" ขายถูกกว่าไทย ต่างกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ อาจจะมาจากต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน 2 ปี ผลผลิตอินเดียดีมาก ส่วนข้าวหอมมะลิไทย ราคาแตะ 1,000 ดอลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวหอมเวียดนามขาย 530 ดอลลาร์สหรัฐ

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าการส่งออกข้าวก็ยังไปได้เรื่อยๆ  ที่ผ่านมาเฉลี่ยส่งออกประมาณเดือนละ 6 แสนตัน แต่ว่าในตอนนี้เริ่มไม่ค่อยดีแล้ว เพราะว่าประเทศอินเดีย ข้าวขาว ข้าวชนิด 5%  และข้าวนึ่ง ขายถูกมากต่างกับข้าวไทยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ อาจจะมาจากต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน 2 ปี ผลผลิตอินเดียดีมาก 

 

ส่วนข้าวหอมมะลิ ราคาในประเทศเริ่มราคาสูงมาก ตอนนี้คาดว่าจะขายข้าว ประมาณ 1,000 ดอลาร์สหรัฐแล้ว แต่ข้าวหอมเวียดนามขายอยู่ประมาณ 530 ดอลลาร์สหรัฐ หากประเทศไทยมีการเปิดประเทศแล้วสถานการณ์ราคาข้าวอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้มากนัก

 

ตารางส่งออกข้่าวไทย

 

สมาคมฯขอเรียนเชิญนักวิจัย/ปรับปรุงพันธุ์ข้าว ส่งข้าวพันธุ์ใหม่เข้าประกวด โดยส่งตัวอย่างข้าวในรูปข้าวเปลือกบรรจุถุงอย่างเรียบร้อย จำนวน 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งสายพันธุ์/พันธุ์ พร้อมระบุประเภท และชนิดข้าวที่ส่งเข้าประกวด และกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มใบสมัคร มายังสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565

 

สำหรับในการประกวดครั้งนี้ จะมีข้าว 3 ประเภท คือ

 

1.ข้าวหอมไทย

 

2.ข้าวพื้นนุ่ม

 

3. ข้าวพื้นแข็ง

 

ทั้งนี้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ชนะการประกวดในแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลประเภทละ 5 แสนบาท พร้อมโล่รางวัลจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหมด 3 รางวัล

 

 

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ราย สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญรายสัปดาห์ 23-29 พฤษภาคม 2565

 

ฟิลิปปินส์

 

สำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry; BPI) กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2565 ฟิลิปปินส์นําเข้าข้าวจำนวน 384,594.907 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับจำนวน 414,243.005 ตัน ในเดือนมีนาคม 2565 และลดลงประมาณร้อยละ 52.22 เมื่อเทียบกับจำนวน 804,996.53 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) ฟิลิปปินส์นําเข้าข้าว ประมาณ 1.189 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 47.77 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

สำนักอุตสาหกรรมพืช (BPI) รายงานข้อมูลการนําเข้าข้าวล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนประมาณ 1.289 ล้านตัน โดยมีผู้ยื่นขออนุญาตนําเข้าข้าวทั้งที่เป็นผู้ค้าข้าว และบริษัทต่างๆ รวม 113 ราย โดยใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืช (sanitary and phytosanitary import clearances: SPICS) จำนวน 1,590 ใบ

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 พฤษภาคม 2565 แหล่งนําเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมียนมาร์ ปากีสถาน สิงคโปร์ สเปน ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยฟิลิปปินส์นําเข้าจากเวียดนามมากที่สุด จำนวน 1.008 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 84.8 ของการนําเข้าข้าวทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ จำนวน 120,859.28 ตัน ปากีสถาน จำนวน 75,930.675 ตัน และไทย จำนวน 74,593.125 ตัน

 

 

สำหรับเอกชนผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท Bestow Industries Inc. มีปริมาณนําเข้า 80,115 ตัน รองลงมา คือ บริษัท Macman Rice and Corn Trading มีปริมาณนําเข้า 63,200 ตัน ที่ผ่านมา Business Mirror รายงานว่า การนําเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้เกิดจากการที่ผู้นําเข้าข้าวได้เร่งนําเข้าข้าวเพื่อสํารองไว้ท่ามกลางความคาดหวังว่าอุปทานข้าวจะตึงตัวและผลผลิตในประเทศที่ลดลง เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ระบุว่า ฤดูกาลเลือกตั้งทั่วประเทศมีส่วนทำให้ความต้องการนําเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการบริโภคข้าวราคาต่ำเพิ่มขึ้น (low-cost rice) เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งทำให้เกิดความต้องการข้าวราคาต่ำโดยเฉพาะจากเมียนมาร์Manila Bulletin รายงานว่า ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถจัดเก็บภาษีนําเข้าข้าวจำนวน 46 พันล้านเปโซ (ประมาณ 878.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งรัฐบาลได้เก็บภาษีนําเข้าข้าวเพื่อนํางบประมาณไปสนับสนุนภาคการผลิตข้าวของประเทศ

 

ผ่านกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของข้าว (the Rice Competitiveness Enhancement Fund; RCEF) ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยอัตราภาษีข้าว (the Rice Tariffication Law; RTL) ซึ่งตามกฎหมาย รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 10 พันล้านเปโซต่อปี (ประมาณ 196ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนทางการเงินในโครงการสนับสนุนชาวนา เช่น การช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาวนา การไถพรวนพื้นที่เกษตร การขยายความคุ้มครองการประกันพืชผล และการส่งเสริมความหลากหลายทางพืชผล

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 มีจำนวนประมาณ 1.63251 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคประมาณ 51 วัน (คํานวณจากความต้องการบริโภควันละประมาณ 32,000 ตัน) น้อยกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน โดยปริมาณสต็อกข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.60925 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ลดลงร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.0801 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2564

 

ทั้งนี้ สต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวนประมาณ 0.15626 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 41.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.26532 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 5 วัน) โดยสต็อกข้าวของ NFA ลดลงประมาณร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.18123 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

ขณะที่สต็อกในคลังของเอกชน (Commercial warehouses) มีจำนวนประมาณ 0.61133 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.58466 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 37.4 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 19 วัน) และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.54527 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่วนสต็อกในภาคครัวเรือน (Household stocks) มีจำนวนประมาณ 0.86492 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.23013 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 53.0 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 27 วัน) และลดลงประมาณร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.88274 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

อินเดีย

 

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง เนื่องจากค่าเงินรูปีเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 77.79 รูปีต่อเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีการระบายข้าวออกมาสู่ตลาดผ่านโครงการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 351- 356 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากระดับ 357-361 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

 

เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ขณะที่วงการค้าคาดว่า การอ่อนค่าของเงินรูปีจะส่งผลให้ความต้องการข้าวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวหักที่นําไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และแปรรูปอาหาร

 

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (the India Meteorological Department) ที่พยากรณ์ว่า ฤดูมรสุม (ฤดูฝน) จะเริ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อรัฐ Kerala ในช่วงตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565ซึ่งเร็วกว่าเวลาปกติ 5 วัน (ตามปกติฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ของทุกปี) โดยก่อนหน้านี้กรมอุตุนิยมวิทยา (IMD) คาดการณ์ปริมาณฝนในปีนี้จะอยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยปกติ

 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา (IMD) ได้กำหนดปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยหรือปกติ (average or normal rainfall)ว่าอยู่ในช่วงร้อยละ 96 - 104 ของค่าเฉลี่ย 50 ปีที่ระดับ 87 เซ็นติเมตร (ประมาณ 35 นิ้ว) สำหรับฤดูกาลในช่วง 4 เดือน (มิถุนายน-กันยายน) ซึ่งฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เกิดขึ้นในทุกปี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรของอินเดีย