‘แคะกระปุก’สู้ของแพงแซงรายได้ คนใต้เชื่อมั่นศก.ติดลบ

17 ก.ค. 2565 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 20:35 น.

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมธุรกิจ ม.หาดใหญ่ สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจคนใต้เดือนมิ.ย.ย่อตัวลง ซื้อขายมากขึ้นแต่ยอดขายลด ผลของแพงแซงรายได้ ต้องดิ้นปรับตัวสุดฤทธิ์จี้รัฐเร่งออกมาตรการเติมกำลังซื้อ แต่ยังมองบวกคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจและรายได้ยังโต

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ประจำเดือนมิ.ย. 2565 เปรียบเทียบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดการณ์อีก 3 เดือน เพื่อวัดการเปลี่ยน แปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ของประชาชนในภาคใต้จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าอยู่ที่ระดับ 41.10 ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 2565 (41.60) และเม.ย. (41.30)

 

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่กล่าวว่า ดัชนีที่ปรับตัวลดลงได้แก่ รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

‘แคะกระปุก’สู้ของแพงแซงรายได้ คนใต้เชื่อมั่นศก.ติดลบ

ทั้งนี้ ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตในภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าการเติบโตของรายได้ ด้วยการรัดเข็มขัด ลดการบริโภค การเปลี่ยนไปซื้อของที่ถูกลง และชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งคาดว่าค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นเช่นนี้อีกนาน หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และภาครัฐได้มีมาตรการผ่อนคลายจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่จากปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการจำนวนมากเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

‘แคะกระปุก’สู้ของแพงแซงรายได้ คนใต้เชื่อมั่นศก.ติดลบ

‘แคะกระปุก’สู้ของแพงแซงรายได้ คนใต้เชื่อมั่นศก.ติดลบ

ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศโดยภาพรวมไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ ถึงแม้ว่าในช่วงผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นช่วงที่ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อกลับลดลง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนฐานราก ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

โดยประชาชนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เมื่อประสบปัญหาของแพง จึงไม่ได้ส่งผลเพียงต้องรัดเข็มขัดเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงการนำเงินเก็บสะสมออกมาใช้ชดเชยส่วนที่ขาด นอกจากนี้ ยังมีประชาชนเปราะบางอีกจำนวนมาก ที่ไม่มีเงินเก็บเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ทางออกของคนกลุ่มนี้ คือ การกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเป็นการก่อหนี้ครัวเรือนให้พอกพูนสูงขึ้น อีกทั้ง มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปัจจุบันได้ทยอยสิ้นสุดลง

‘แคะกระปุก’สู้ของแพงแซงรายได้ คนใต้เชื่อมั่นศก.ติดลบ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ มีดังนี้

 

1. จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกยํ้าให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันราคาสินค้าและบริการให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเสนอแนะให้ภาครัฐหามาตรการลดราคาพลังงานในประเทศ อาทิ ปรับลดราคาค่ากลั่นนํ้ามัน ปรับโครงสร้างราคานํ้ามันโดยไม่อ้างอิงราคานํ้ามันสิงคโปร์ และออกมาตรการควบคุมราคาเชื้อเพลิงในประเทศรวมถึงการหาพลังงานทดแทน

 

2. ประชาชนประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อีกทั้ง จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาครัฐไม่เพียงแค่ควบคุมราคาสินค้าและบริการ แต่ควรมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงนี้ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น

 

3. ภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และร้านค้า จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการฟื้นตัวของกิจการจึงมีความต้องการเงินสนับสนุนจาก ภาครัฐในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน

 

4. ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ราคาปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง อีกทั้งความเสี่ยงของราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่

 

ทั้งนี้ ภาครัฐควรหามาตรการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร อีกทั้ง ภาครัฐควรจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในประเทศให้กับเกษตรกรเพื่อทดแทนการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ

 

ส่วนผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.70 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนและรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 35.60 ตามลำดับ

 

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.80 36.80 และ 32.10 ตามลำดับ

 

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 57.30 รองลงมา คือ ภาระหนี้สินของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 21.60 รายได้ที่ลดลง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 10.20 และ 6.10 ตามลำดับ

 

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรกคือ การแก้ปัญหาราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาคือ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตามลำดับ 

 

สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17-20 กรกฎาคม พ.ศ.2565