‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

14 พ.ค. 2565 | 05:20 น.
630

    มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจรายได้รายจ่ายการท่องเที่ยวภาคใต้ ขยับโตต่อเนื่องส่งต่อ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นอีก แม้เจอเงินเฟ้อต้นทุนพุ่งเรียกร้องรัฐดูแลค่าครองชีพ ช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวต่อ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน เมษายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนเมษายน 2565 (41.30) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 (40.80) และเดือนกุมภาพันธ์ (41.10)

 

โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิตฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ ประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้จ่ายเงินในการเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงการเลี้ยงสังสรรค์ช่วงวันหยุดยาว ในเทศกาลวันสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 13-17 เมษายน มีการพักค้างคืนตามสถานที่พักแรมจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้ส่วนลดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายน ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มคลายความกังวล จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และประชาชนที่ทำอาชีพค้าขายเริ่มประกอบอาชีพได้อย่างปกติมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้จากการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ฟื้นตัวจากปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ทั้งนี้เพราะศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 จึงผ่อนคลายให้สามารถจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ได้เพียงบางส่วน แต่ห้ามเล่นนํ้า ประแป้ง หรือปาร์ตี้โฟม เป็นต้น

 

อีกทั้ง ราคาอาหารและสินค้าแพงขึ้นมาก ประกอบกับประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อที่ลดลง และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังมีจำนวนไม่มาก ทำให้การใช้จ่ายโดยภาพรวมเพื่อการท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยต่อทริปลดลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผล กระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ มีดังนี้

 

1. ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบถึงต้นทุนที่สูงขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆต้องปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้เท่าเดิมหรือลดลง จึงเสนอแนะให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเพื่อลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในขณะนี้

 

2. ประชาชนส่วนหนึ่งมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับสถาน การณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อยังคงมีจำนวนหลักหมื่นคนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนเมษายน ส่งผลให้อัตราผู้ติดเชื้อเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยคน ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตควรลดน้อยลงจากมาตรการป้องกันตนเอง และฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 จึงเสนอแนะให้ภาครัฐหาวิธีลดอัตราผู้เสียชีวิตจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ตํ่ากว่าหลักร้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

3. เกษตรกรมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนปัจจัยการผลิตภาคเกษตรและปศุสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ และสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น ถึงแม้ว่าราคาผลผลิตการเกษตรช่วงนี้จะมีราคาสูงขึ้น แต่เกษตรกรก็มีต้น ทุนค่าใช้จายในการผลิตเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน จึงเสนอแนะให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือ เกี่ยวกับต้นทุนปัจจัยการผลิตภาคเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อลดภาระให้แก่เกษตรกร

 

ส่วนคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 38.60 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 39.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.10 30.30 และ 34.20 ตามลำดับ

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบ ต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 41.60 รองลงมาคือ ภาระหนี้สินของประชาชนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 24.70 และ 19.20 ตามลำดับขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลืออันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง รองลงมา คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบ สอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง 

‘เครื่องติด’เศรษฐกิจใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งต่อเนื่อง

สมชาย สามารถ/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,783 วันที่ 15-18 พฤษภาคม พ.ศ.2565