นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯได้ร่วมหารือกับสำนักงานทรัพย์สินอุตสาหกรรมแห่งประเทศฝรั่งเศส (INPI) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่น การส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในเชิงพาณิชย์ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไทยในตลาดแฟชันฝรั่งเศส
และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยเพื่อพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งภายหลังการหารือ กรมฯ จะร่วมกับ INPI เตรียมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และการออกแบบแฟชัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และปูทางให้นักออกแบบแฟชันรุ่นใหม่ของไทย เข้าใจแนวทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในฝรั่งเศส และพร้อมที่จะบุกตลาดฝรั่งเศสได้อย่างมั่นใจต่อไป
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้หารือกับสมาคมการค้าตัวแทนผู้ผลิตแชมเปญในประเทศฝรั่งเศส (Comité Champagne) เพื่อผลักดันการนำผ้า GI ไทย ที่เนื้อผ้ามีเอกลักษณ์และลวดลายสวยงาม ทั้งผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร และผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าแชมเปญ ซึ่งเป็นอีกนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้า GI ไทยไปยังต่างประเทศ ผ่านการจับคู่กับสินค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก
“ กรมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับการผลิต การทำการตลาด การควบคุมดูแลคุณภาพ และชื่อเสียงของสินค้าแชมเปญ ตลอดจนการดำเนินการกับสินค้าแชมเปญปลอม เพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในการยกระดับคุณภาพสินค้า GI ของไทยให้ได้คุณภาพทัดเทียมระดับสากลด้วย”
ปัจจุบันไทยมีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศแล้วทั้งสิ้น 179 รายการ โดยเป็นสินค้าไทย 161 รายการ และสินค้าต่างประเทศ 18 รายการ รวมถึงแชมเปญและคอนยัคฝรั่งเศส และไทยยังมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครอง GI ในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศฝรั่งเศส เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง โดยที่ผ่านมา สินค้า GI ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากกว่า 42,000 ล้านบาท