ปิดดีลเงินกู้ 2.7 พันล. เดินหน้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย

07 ก.ค. 2565 | 18:22 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2565 | 01:22 น.

ปิดดีลเงินกู้ 2.7 พันล. เดินหน้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยายกำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ คาดเริ่มเดินเครื่องและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2567

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า เอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย กำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ ในจังหวัดระยอง 

 

ทั้งนี้ โครงการฯ ประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) มูลค่าเงินกู้รวมประมาณ 2,700 ล้านบาท 

 

โดยโครงการเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,600 ล้านบาท  ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2567

โรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย ซึ่งเอ็กโก ถือหุ้น 80% และบริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 20% ก่อสร้างบนพื้นที่ว่างถัดจากโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น เดิม

 

ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง โดยจะจ่ายไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในปี 2567 

 

โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าประเภทโคเจนเนอเรชั่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กทดแทน (SPP Replacement) เป็นระยะเวลา 25 ปี 

 

ในขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำจากกระบวนการผลิตจะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยองและพื้นที่ใกล้เคียง

 

“โรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยายจะสามารถจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด ซึ่งจะช่วยทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง"