สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

07 ก.ค. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 17:28 น.

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า ดึงบทเรียนโควิด-19 ความขัดแย้งสงครามมาใช้ สนค.ชี้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า แนะผู้ผลิต-ผู้ส่งออกอาหารไทยติดตามมาตรการและแนวโน้มของตลาดคู่ค้า

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาติดตามแผนงานด้านการปฏิรูประบบอาหารและห่วงโซ่อุปทานอาหารของและติดตามเฝ้าระวังนโยบายและมาตรการของต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยโดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ได้ออกประกาศรายละเอียดกรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร (USDA’s Food System Transformation Framework)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

เพื่อปรับปรุงระบบอาหารของประเทศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อาหารของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต (โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดเล็กและกลาง) และชุมชนในชนบท โดยจะช่วยเพิ่มทางเลือกการบริโภค เพิ่มการเข้าถึงอาหาร และสร้างระบบนิเวศน์ตลาดที่ดีขึ้น

 

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

ซึ่งกรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหารของสหรัฐฯ สร้างขึ้นจากบทเรียนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน ตอกย้ำความสำคัญด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบอาหารของสหรัฐฯ ซึ่ง USDA ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

และได้กำหนด 4 เป้าหมาย ภายใต้กรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร ได้แก่ 1) การสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยืดหยุ่นมากขึ้น (Building a more resilient food supply chain) ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีทางเลือกทางการตลาดที่มากขึ้นและดีขึ้น ให้ความสำคัญกับการกระจายฐานการผลิตสู่ชนบท ไม่ให้กระจุกตัวในพื้นที่ไม่กี่แห่ง พร้อมกับการลดมลภาวะจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างงานในชนบทด้วย 2) การสร้างระบบอาหารที่ยุติธรรม (Creating a fairer food system) ต่อสู้กับการใช้อำนาจเหนือตลาด ช่วยผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีอำนาจและทางเลือกมากขึ้น

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

โดยส่งเสริมตลาดท้องถิ่น ทั้งนี้ โควิด-19 ทำให้เห็นถึงอันตรายหากระบบอาหารมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย 3) การทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาและราคาไม่แพง (Making nutritious food more accessible and affordable) และ 4) การเน้นย้ำความเท่าเทียมของชุมชนเมืองและชุมชนในชนบท (Emphasizing Equity) สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนในชนบทหลุดพ้นจากความยากจน

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

ข้อมูลจาก USDA พบว่า สหรัฐฯ มีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (Compound Average Growth Rate: CAGR) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่5.09% ในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารทั้งสิ้น 166,947 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปี 2563 คิดเป็น14.03% สินค้าอาหารที่สหรัฐฯ นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ปลาและหอย 24,199 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลไม้ 22,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้อื่น ๆ (อาทิ ซอสปรุงรสและซุป น้ำมันหอมระเหย) 18,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

สำหรับไทย ในปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหาร ของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 34,259.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.10 ล้านล้านบาท) ขยายตัวจากปี 2563  9.23% โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีน และญี่ปุ่น) มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,628.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (116,355.30 ล้านบาท) ลดลง 4.27% โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ (พิกัดศุลกากร 16)  25.14% ของปรุงแต่งจากพืช (พิกัดศุลกากร 20) 21.90% และธัญพืช (พิกัดศุลกากร 10) โดยเฉพาะข้าว 13.75%

สหรัฐฯส่งสัญญาณความมั่นคงทางอาหารเดินหน้าเพิ่มการผลิตในปท.-ลดการนำเข้า

“นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้นและเริ่มคิดที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานและนโยบายในการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ และลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เนปาลวางแผนงานและนโยบายของประเทศในปี 2566 โดยให้ความสำคัญกับภาคการผลิตของประเทศ และสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า ขณะที่อียิปต์อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการโครงการต่าง ๆ ด้านการเกษตร เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรภายในปี 2573 เพื่อช่วยควบคุมการนำเข้าอาหาร และจัดหาตลาดภายในประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไทยควรติดตามมาตรการและแนวโน้มของตลาดคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การลดการนำเข้าอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”