“ค่าเงินบาท” อ่อนเกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ไม่นาน นักวิชาการคาดครึ่งปีหลังฟื้น

06 ก.ค. 2565 | 18:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 01:28 น.
3.4 k

นักวิชาการประเมิน “ค่าเงินบาท” อ่อนค่าเกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ไม่นานก็เริ่มคลี่คลาย หลังจากเห็นแนวโน้มอ่อนค่าใกล้ถึงจุดพีคแล้ว มองครึ่งปีหลังฟ้าเริ่มสดใส เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ ประคองค่าเงินไม่ให้ร่วงลงมาก

สถานการณ์ "ค่าเงินบาท" อ่อนค่า ยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตากับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยวันนี้ ค่าเงินบาทได้ร่วงทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว และยังมีแนวโน้มการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ ทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินหยวนของประเทศจีนแข็งค่าขึ้น

 

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนอ่อนค่าอยู่บ้าง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

 

ขณะเดียวกันยังมีความเห็นจากฟากวิชาการ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่ากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าใกล้ถึงจุดพีคแล้ว และน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 

ทั้งนี้มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ย โดยมีการประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ขึ้นมา 3 ครั้งขึ้นมาเร็ว แต่ก็ยังไม่จบ เพราะจากนี้ไปถึงช่วงปลายปีมีโอกาสที่สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 2-3% ได้ ดังนั้นจึงทำให้ช่วงนี้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปจำนวนมาก

 

แต่อย่างไรก็ดีแม้จะมีเงินไหลออก แต่อีกสักพักหนึ่งจะไหลกลับเข้ามา เพราะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังมีเสถียรภาพ โดยมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2.5-3% เป็นเพราะครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น และการส่งออกก็ยังพอไปได้ ทั้งปีก็น่าจะโตเฉลี่ยถึง 10% 

 

“อยากให้จับตาดูครึ่งปีหลัง เงินที่ไหลออกไปในช่วงค่าเงินบาทอ่อนค่าจะค่อย ๆ ไหลกลับเข้ามาในตลาดทุน เช่นเดียวกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่กลับมา อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกได้ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้กังวลกับเรื่องค่าเงินบาทมากนัก ขอแค่อย่าให้ค่าเงินบา ทแตกต่างจากเงินสกุลของเพื่อนบ้านมากก็พอ” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มองว่า ก็จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ที่พอคลายความกังวลได้บ้าง คือ แนวโน้มราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวแล้ว หลังจากหลายประเทศปรับตัวกับราคาพลังงานได้ และสัญญาการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าก็เริ่มลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวลงความต้องการน้ำมันก็ลดลง ทำให้ราคาน้ำมันไม่ผันผวน และพุ่งสูงขึ้นมากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา