นายกฯ เตรียมตั้งทีมเฉพาะกิจ-ทำแผนรับมือวิกฤตน้ำมันแพง

01 ก.ค. 2565 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 21:28 น.

นายกฯ “ประยุทธ์” เตรียมตั้งทีมเฉพาะกิจ เรียกประชุม สมช. สัปดาห์หน้า ติดตามข้อมูลและทำแผนแผนรับมือวิกฤตพลังงาน - อาหาร ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะยาว ชง ครม. บังคับทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ปัญหา

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแผนรับมือวิกฤตพลังงานและอาหาร โดยอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามา และตั้งกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาให้ปฏิบัติหน้าที่รองรับวิกฤตด้วย

 

ทั้งนี้ตามแผนรับมือวิกฤตพลังงานและอาหาร แบ่งเป็น แผนระยะสั้น กลาง และยาว โดยแผนระยะสั้นครอบคลุมระยะเวลา 3 เดือน ส่วนระยะกลางจะประเมินสถานการณ์ในช่วง 6 เดือน และระยะยาวครอบคลุมตลอดปี 2566 ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร และให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรองรับสถานการณ์และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

 

“แผนที่จะเสนอเป็นเรื่องของการเตรียมข้อมูลและความพร้อมต่าง ๆ ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่กระทบคนเป็นวงกว้าง เพราะจากราคาพลังงานจะมีการกระทบไปยังภาคขนส่ง และก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นเรื่องของพลังงานเป็นเรื่องอันดับแรกต้องติดตาม เพราะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของปัจจุบัน” พล.อ.สุพจน์ ระบุ

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมช.ได้นัดหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมหารือและรับทราบรายงานสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก่อนจัดทำออกมาเป็นแผน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของพลังงาน ไฟฟ้า และอาหาร จากนั้นจึงนำแผนนี้ไปให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

“การทำงานของ สมช. จะเน้นไปที่เรื่องความมั่นคง เพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลน ส่วนเรื่องของราคากระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว โดยขั้นจากนี้ จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับทราบแผน” เลขาฯ สมช. ระบุ

 

ส่วนกรณีที่มีกระแสบอกว่า สมช.ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจ เลขาฯ สมช. ยอมรับว่า ที่ผ่านมาสมช.ไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะก่อนหน้านี้ สมช. ก็ได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทุกคนเพื่อรับทราบปัญหา และเชิญหน่วยงานเศรษฐกิจมาพูดคุยแล้ว เพื่อหารือถึงการจัดทำแผนที่จะรองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่กรณีของการดึงกำไรส่วนเกินจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันนั้น ยอมรับว่า คงไม่ถึงขั้นต้องใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร มาดำเนินการ โดยให้ใช้กลไกตามกฎหมายที่แต่ละกระทรวงมีอยู่ หรือเป็นการเจรจา คาดว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะได้ข้อสรุป