ชำแหละ ค่าโดยสารสายสีเขียว ยุค‘ชัชชาติ’

29 มิ.ย. 2565 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 21:29 น.
2.5 k

เปิดสูตรคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังกทม.เตรียมเก็บค่าโดยสาร 59 บาท เหตุแบกหนี้อ่วมแสนล้าน คาด ก.ค.นี้ ได้ข้อสรุป แก้ปมต่อสัญญาสัมปทาน

นั่งฟรีมานานสำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ล่าสุดถึงเวลาเรียกเก็บค่าโดยสารหลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกันกับศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุประธานกรรมการบริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม เพื่อจัดเก็บค่าโดยสารตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในอัตราเมื่อรวมส่วนสัมปทานไม่เกิน 59 บาทตลอดสาย และเป็นตัวเลข ที่คณะผู้บริหาร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เห็นว่ามีความเหมาะสม ประชาชนน่าจะรับได้เพราะเส้นทางส่วนต่อขยายมีระยะทางที่ไกล โดยช่วงหมอชิต-คูคต ระยะ ทาง 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี เดิมมีแผนเริ่มจัดเก็บวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 แต่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) แจ้งว่าอาจไม่ทันเนื่องจากต้องหารือกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีปรับระบบซอฟต์แวร์การคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

 

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ การเรียกเก็บค่าโดยสาร หากเทียบอัตราค่าโดยสารของ ผู้ว่าราชการกทม.คนก่อนเพดานไม่เกิน 65 พ่วงขยายสัมปานให้เอกชนเพื่อแลกหนี้กว่าแสนล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มีอัตราค่อนข้างสูงและมีการคัดค้านในวงกว้าง ในทางกลับกันอัตราที่มองว่าประชาชนรับได้และไม่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพ ควรไม่เกิน 25-30 บาทตลอดสาย

 

 

 นายชัชชาติ อธิบายว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีหนี้ส่วนต่อขยายราว 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็นหนี้วางระบบขณะที่หนี้ของรัฐบาลเป็นหนี้วางระบบรถ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถ อีก 13,000 ล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่ การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี และการต่อสัญญาสัมปทาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้

 

 

“เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายเก็บ 15 บาท เมื่อรวมกับเส้นทางหลักสัมปทานเก็บได้สูงสุดไม่เกิน 59 บาท”

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันเชื่อมต่อการเดินทางทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯปทุมธานี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานีมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 16-59 บาท แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ดังนี้ ค่าโดยสารเส้นทางหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช อยู่ที่ 16-44 บาทและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินฯ อยู่ที่ 23-40 บาท ระยะ
ทาง 23.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางหลักกทม.สังกัดมหาดไทย ให้สัมปทาน 30 ปี บีทีเอสซี ก่อสร้าง จัดหาระบบเก็บค่าโดยสารและเดินรถทั้ง 2 ช่วง สิ้นสุดสัญญาสัมปทานภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2572

 

 

ส่วนค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วย ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า อยู่ที่ 16-31 บาทและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง อยู่ที่ 15 บาท ตลอดสาย ระยะทางรวม 12.75 กิโลเมตร ที่ผ่านมารัฐบาลนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้า จากนั้น กทม.สร้างส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง โดย กทม.เป็นผู้ก่อสร้างและติดตั้งระบบ โดยมอบบริษัท กรุงเทพธนาคม(เคที) บริษัทลูกจ้างบีทีเอสซีเดินรถ ถึงปี 2585

 

 

 ขณะเดียวกันส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-คูคต-สะพานใหม่ ระยะทางรวม 31.20 กิโลเมตร ปัจจุบันช่วงนี้ยังให้นั่งฟรีไม่มีกำหนด ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการเวนคืนที่ดินและก่อสร้าง วงเงิน 55,000 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2558 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ จึงนำไปสู่การเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการพร้อมภาระหนี้ในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 โดย กทม.จ้างบีทีเอสซีติดตั้งระบบและเดินรถถึงปี 2585

 

 

ที่ผ่านมากทม.ได้ศึกษาแนว ทางอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาทตลอดสาย โดยเป็นเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 65 บาท โดยจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารตามดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ทุกๆ 2 ปี ค่าโดยสารสายหลักถึงปี 2572 อยู่ที่ 15-44 บาท ส่วนต่อขยายและสายหลักตั้งแต่ปี 2572-2602 อยู่ที่ 15 บาท บวกเพิ่ม 3 บาทต่อสถานีสูงสุด 65 บาท ราคาต่อเที่ยว 50 บาทซึ่งจะทำให้กทม.มีรายได้ค่าโดยสารตลอดสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 1.65 ล้านล้านบาท

ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการคิดอัตราค่าโดยสารจาก MRT Standardization ของ ADB โดยเป็นการพิจารณาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะของไทยและสากล ซึ่งถือเป็นอัตราค่าโดยสารที่ประชาชนยอมรับได้ ซึ่งค่าโดยสารในปี 2565 จะมีค่าแรกเข้าอยู่ที่ 12 บาท +2 บาทต่อกิโลเมตร  ราคาต่อเที่ยว 36 บาท ทำให้รฟม.มีรายได้ค่าโดยสารตลอดสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 1.20 ล้านล้านบาท มีส่วนต่างจากที่กทม.ศึกษา 4.5 แสนล้านบาทและมีค่าโดยสารถูกลง 14 บาทต่อคนต่อเที่ยว  

 

ทั้งนี้เมื่อคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเดินทางมาจากต้นทางที่สถานีคูคต (ซึ่งอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต) ไปยังสถานีปลาย ทางภายในส่วนต่อขยายสายนี้ มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท 

 

ชำแหละ ค่าโดยสารสายสีเขียว ยุค‘ชัชชาติ’
กรณีเดินทางมาจากต้นทางที่สถานีคูคต ซึ่งเป็นสถานีส่วนต่อขยายที่ 2 เชื่อมต่อสถานีหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช มีราคาคงที่ 16-44 บาท นั้น ทำให้ราคาค่าโดยสารในช่วงส่วนต่อขยายไม่มีการคิดค่าแรกเข้า 15 บาท ออกไป เหลือราคาสูงสุด 30 บาท ทำให้หากเดินจากคูคต-อ่อนนุช จะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 30 + 44 = 74 บาท 

 


ส่วนกรณีทีเดินทางจากรถไฟฟ้าส่วนหลัก ช่วงสถานีหมอชิต-อ่อนนุช ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-45 บาท และเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสถานีบางจาก-แบริ่ง และเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสถานีสำโรง-เคหะฯราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท หากคำนวณระยะทางไกลที่สุด จากสถานีหมอชิต-เคะหะฯ จะอยู่ที่ 44 + 30 บาท(ไม่คิกค่าแรกเข้า 15 บาท) = 74 บาท

 

 

อย่างไรก็ตามหากต้องการเดินทางทั้งระบบ หรือตั้งแต่สถานีคูคต-สถานีเคหะฯ จะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 30 บาท (ไม่คิดอัตราค่าแรกเข้า 15 บาท) + 44 บาท(ส่วนหลักของรถไฟฟ้าราคาคงที่) + 30 บาท (ไม่คิดอัตราค่าแรกเข้า 15 บาท) = อัตราค่าโดยสารทั้งหมด 104 บาท