บี.กริมผนึกพันธมิตร ค้นหาสตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมลด Co2

27 มิ.ย. 2565 | 15:49 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 23:42 น.

บี.กริม เพาเวอร์ จับมือพันธมิตร ร่วมโครงการ DTS สร้างสตาร์ทอัพ ค้นหาสร้างโซลูชั่นลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สร้างนวัตกรรมการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ กางแผนก้าวสู่องค์กรปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 ดันลงทุนพลังงานทดแทน 1 พันเมกะวัตต์ ปี 2568

 

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำผลิตไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังเป็นความเสี่ยงของทุกประเทศทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวการดำเนินงานของบริษัท จึงได้กำหนดนโยบายที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ก้าวสู่องค์กรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emission ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) สอดคล้องกับภาพรวมในปัจจุบันของทิศทางพลังงานโลก ที่ต่างมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ตามวาระการประชุมระดับโลก COP26 

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้ดำเนินการภายใต้กรอบที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. มุ่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด และการใช้พลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อสายส่ง (Solar Rooftop) ซึ่งปีที่ผ่านมา บรษัท ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลีงงานงานลม มีกำลังผลิตอยู่ที่ 737 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็น  1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568  

 

2. การใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาร่วมบริหารจัดการในการผลิตพลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. มุ่งมั่นลดการผลิตคาร์บอน ด้วยการศึกษาความเป็นได้และมองหานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดคาร์บอน อาทิ Carbon capture and storage และการสร้างโครงข่ายการซื้อขาย Renewable Energy Certificate (REC) และคาร์บอนเครดิตให้สำเร็จเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนการปลูกป่าเพื่อร่วมเป็นพลังในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

 

จากการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2561 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 796,341 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

นายนพเดช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ให้สำเร็จ และยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานดิจิทัล และสร้างระบบนิเวศของธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” หรือ DTS เพื่อร่วมมือกันสร้างสตาร์ทอัพค้นหาโซลูชั่นลดคาร์บอน สร้างเครือข่ายต่าง ๆ ในการสร้างนวัตกรรมสำหรับการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่

 

โครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของสตาร์ทอัพในการเชื่อมต่อและสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเป็นร่วมมือระหว่างบริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัดและบริษัท นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรองค์กรชั้นนำของประเทศไทย

 

ประกอบด้วย บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (B.Grimm Power Public Company Limited), เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC Public Company Limited) และบมจ. ปตท. (PTT Public Company Limited) เพื่อร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน ที่จะร่วมค้นหาสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยี โซลูชั่น หรือมีแพลตฟอร์มในการลดปล่อยคาร์บอน เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลต่อยอดสู่การสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมการลดคาร์บอนของภูมิภาคอาเซียนในระยะต่อไป