รฟท.เล็งปิดจ็อบ 10 เอกชน ดันขนส่งสินค้าทางราง กวาดรายได้ 2 พันล้าน

19 มิ.ย. 2565 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 23:56 น.

รฟท.เปิดแผน 10 เอกชนแห่ใช้บริการขนส่งทางรางเสียบขนส่งรถบรรทุก เหตุราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งหนัก กระทบค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เล็งชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียว จัดหาโบกี้เพิ่ม 965 คัน คาดโกยรายได้แตะ 2 พันล้านบาท

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการใช้บริการขนส่งสินค้าจากทางรถบรรทุกมาเป็นทางรถไฟ ขณะนี้มีลูกค้าหลายบริษัทมีความสนใจและติดต่อเข้ามายัง รฟท. อย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ ประกอบกับ รฟท. มีการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมทั้งจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขึ้น ทำให้บริษัทขนส่งต่างๆ เชื่อมั่นต่อการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ประมาณ 10 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุป และเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าได้ภายในปี 65 

 

 

ขณะเดียวกัน รฟท. มีโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (บทต.) หรือแคร่ขนสินค้า ประมาณ 1,000 คัน โดยใช้ขนสินค้าแบบเหมาขบวน 60% และแบบรายย่อย 40% แต่ขณะนี้การใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัว รฟท. จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 965 คัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท รองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม โดยได้มอบให้ รฟท. กลับมาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบผลตอบแทนทางการเงินอีกครั้ง ระหว่างการเช่า การซื้อ และการจ้างเหมาบริการ คาดว่าจะเสนอกลับไปยังกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในเดือน ก.ค.-ส.ค.65 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 
 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท. มีลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้ากว่า 60 บริษัท โดยปี 65 รฟท. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากการบริการขนส่งสินค้า 1,500-2,000 ล้านบาท ปริมาณขนส่งสินค้า 12 ล้านตัน เติบโตจากปี 64 ซึ่งอยู่ที่ 11.3 ล้านตัน ประมาณ 2% ส่วนปี 66 ตั้งเป้าหมายที่ 12.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-มี.ค.65) รฟท.ให้บริการขนส่งสินค้าไปแล้วประมาณ 8.7-8.8 ตัน หลังจากนี้คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าน่าจะเพิ่มมากขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของ รฟท. ในขณะนี้แบ่งเป็น ผู้โดยสาร 70% และขนส่งสินค้า 30% ซึ่ง รฟท. จะพยายามผลักดันให้ทั้งสองส่วนเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน 
 

รายงานข่าว แจ้งว่า ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้า รฟท. ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมน้ำมัน เนื่องจากต้องตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้เอกชนตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เป็นเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.65) ขณะที่ รฟท. ต้องจ่ายค่าน้ำมันตามราคาตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามทุกๆ 1 บาทที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ รฟท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนหลังจากเดือน ส.ค.65 จะมีการขยายระยะเวลาตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อหรือไม่นั้น ขอพิจารณาประมาณการค่าใช้จ่ายก่อน และปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก