เคลียร์ชัด “กรมราง” เผยสาเหตุแก้ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ฉบับใหม่

22 ก.พ. 2565 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 19:55 น.

“กรมราง” ชี้แจงแก้ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ฉบับใหม่ หลังสหภาพการรถไฟฯ ค้านหนัก เหตุรายละเอียดซ้ำซ้อนอำนาจรฟท. ยันชงครม.ไฟเขียวแล้ว ไม่ผิดกฎหมาย

ดร. พิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง  เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ข้อสังเกตประเด็นเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. .... พบว่าเนื้อหารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง กลับให้กรมการขนส่งทางรางทำให้หน้าที่  เกินขอบเขตจากการกำกับดูแล

เช่น มาตรา 9 มีอำนาจและสิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์   ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล และซ้ำซ้อนกับอำนาจของ รฟท.ที่มีตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 นั้น ตามร่างมาตรา 9 กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในอนุมาตรา (๓) เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการเสนอแนะแนวทางในเชิงนโยบายเมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบแล้วจะส่งให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง แล้วกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางรางปฏิบัติตามนโยบายต่อไป และกรมการขนส่งทางรางไม่ได้ดำเนินการเองแต่อย่างใด แต่จะกำกับดูแลให้หน่วยงานในภายใต้กำกับดูแลปฏิบัติตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว

ส่วนกรณีที่การให้อำนาจและหน้าที่กรมการขนส่งราง ทับซ้อนกับการบริหารจัดการ รฟท. ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (2) เรื่องวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ที่ให้ รฟท.มีอำนาจในการดำเนินการให้ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน และดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ กับ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มาตรา13, 15, 16 ที่ให้กรมการขนส่งทางราง สำรวจเส้นทางและนำเสนอโครงการ และร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มาตรา 25 ให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเวนคืนที่ดิน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลแต่อย่างใดนั้น การเสนอโครงการของคณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางต่อ ครม.เมื่อร่างพ.ร.บ.ประกาศใช้บังคับแล้ว หากเป็นโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางราง ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น รฟม. ,รฟท. และ กทม.ทั้ง 3 เป็นหน่วยงานของรัฐและมีกฎหมายจัดตั้งหรือกฎหมายเฉพาะของหน่วยนั้นๆ ให้อำนาจหน้าที่ในการเวนคืนหรือจัดหาที่ดินให้ได้มาเพื่อดำเนินการจัดทำโครงการได้อยู่แล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.รางฯ ไม่ได้ขัดแย้งกับกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของทั้ง 3 หน่วยงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ที่ร่างมาตรา 26 ไว้ในกรณีโครงการที่คณะกรรมการนโยบายขนส่งทางราง เสนอต่อ ครม.และ ครม.พิจารณาเห็นชอบให้ ขร. ดำเนินการร่วมกับเอกชน ซึ่งเอกชนไม่สามารถใช้อำนาจรัฐในการเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินโครงการ โดยกรมการขนส่งทางรางในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและแผนงานโครงการที่จะดำเนินโครงการขนส่งทางราง ควรจะมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินโครงการของเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการ ตามนโยบายขนส่งทางรางสำเร็จลุล่วงไป เช่นเดียวกับกรมการขนส่งทางบก ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางบกก็มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 ซึ่งไม่ว่าจะกำหนดหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ไว้ในกฎหมายใด หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล โดยกรมราง มีภารกิจที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายและแผนการขนส่งทางราง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเวนคืนหรือการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการขนส่งทางรางเท่าที่จำเป็นและต้องกระทบกับสิทธิของพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

 

 

 

“กรมการขนส่งทางรางก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐาน การขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง ไม่ได้มีเจตนาเพื่อที่จะเข้าไปดำเนินกิจการขนส่งทางรางแต่อย่างใดและยินดีที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ รฟท.ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้บริการประชาชน ตามมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการ ตามที่คณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางจะได้กำหนดต่อไปเมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้บังคับแล้ว และตามบทเฉพาะกาล บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้”