“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” รอเฮ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

18 มิ.ย. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 19:07 น.

กลุ่ม “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” เตรียมตัวเฮ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประกาศกำลังขยายผลมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง คาดจะออกมาได้ภายในเดือนมิถุนายน นี้ พร้อม ๆ กับอีกหลายมาตรการ รับที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มเงิน 2 แสนล้านบาทตรึงราคาพลังงานเต็มสูบ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในรายการ คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันนี้ ว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพิ่มเติม คาดว่าจะออกมาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นี้

 

“ตอนนี้รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและขยายผลเรื่องของการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ จะได้ข้อสรุปออกมาช่วยในส่วนนี้ภายในเดือนมิถุนายน” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

ก่อนหน้านี้ในมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลที่ออกมารอบก่อน ดำเนินการระหว่าง เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 มีมาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นั่นคือ การให้ส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร จำนวน 50 ลิตร หรือ 250 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ครอบคลุมผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน

ส่วนมาตรการใหม่ที่เตรียมจะออกมาช่วยเหลือ ล่าสุดได้รับการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งการต่อมาตรการเดิม เพิ่มเติมมาตรการใหม่ ซึ่งมาตรการทั้งหมด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอให้ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า มีด้วยกันดังนี้ 

 

1.ต่ออายุมาตรการเดิม

  • การตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่ 
  • การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
  • การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก
  • การให้ส่วนลดค่า FT ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย (กำลังพิจารณา)

2.มาตรการใหม่

  • ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร 
  • ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 - 7,000 ล้านบาท แยกเป็น 
  • กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท จะขอความร่วมมือให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน 
  • กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท 
  • ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท
  • สนับสนุนการท่องเที่ยว เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองรองหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรองหักภาษีได้ 2 เท่า (ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565)

 

มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ กรกฎาคม - กันยายน 2565

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านพลังงาน โดยใช้งบประมาณไปแล้ว 206,903 ล้านบาท ทั้งการช่วยตรึงค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และ NGV เพื่อประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 

 

“สิ่งที่จะทำให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้คือ 3 ส่วนต้องช่วยกัน คือ รัฐบาล ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยรัฐบาลมีหน้าที่ต้องประคับประคองผลกระทบจากผลพวงที่จะส่งต่อไปราคาสินค้าทุกชนิดไม่ให้ถึงประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ส่วนประชาชนก็ต้องช่วยกันประหยัดคนละเล็กคนละน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการถ้ามีกำไรมากก็ไม่ควรส่งผ่านต้นทุนต่าง ๆ มาให้ประชาชน ถ้า 3 ส่วนช่วยกันได้ เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ดี” รองนายกฯ กล่าว