ส่อง 6 แนวทาง "กรมขนส่ง" แก้ปัญหารถโดยสารขาดระยะ

14 มิ.ย. 2565 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 20:05 น.
607

“กรมขนส่ง” ถกขสมก.-ผู้ประกอบการเอกชน ยึด 6 แนวทาง แก้ปัญหารถเมล์ขาดระยะ เล็งปรับแผนเดินรถรองรับความต้องการประชาชน ยัน 21 เส้นทางเปิดให้บริการหลัง 4 ทุ่ม ต่อเนื่อง เชื่อปฏิรูปครบทั้งระบบ อัพเกรดประสิทธิภาพให้บริการทุกเส้นทาง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบการขนส่ง เส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีนายนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนเข้าร่วมประชุม ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจาก ขบ. ได้รับทราบปัญหาจากผู้โดยสารที่ใช้บริการเกี่ยวกับรถโดยสาร (รถเมล์) ไม่เพียงพอ ขาดระยะทำให้เกิดการคอยนาน เนื่องจากในช่วง 2 ที่ที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจำนวนผู้โดยสารใช้บริการน้อย มีการปรับการเดินรถ เช่น ลดเที่ยววิ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่มีการใช้บริการประมาณ 10-20% ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายผู้โดยสารกลับมาใช้บริการประมาณ 70% แล้วถ้าเทียบกับปี 62 ที่ยังไม่มีโควิด-19 ขณะเดียวกันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ที่ ขบ. ได้ออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถให้เอกชน ทำให้เอกชนอยู่ระหว่างจัดหารถเมล์ใหม่มาบรรจุในเส้นทางเพื่อให้บริการผู้โดยสารด้วย

 

 

 สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ 1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ขสมก. และรถร่วมเอกชน จัดการเดินรถเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก โดยต้องจำนวนรถ และเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น 2.ปรับแผนการเดินรถช่วงเวลาต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับการหมุนเวียนรถ เพราะในแต่ละช่วงเวลามีการใช้บริการไม่เท่ากัน เช่น ช่วงเวลาเช้า-เย็นจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากต้องเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น ส่วนช่วงเวลากลางวันที่มีผู้ใช้บริการน้อยอาจจะปรับความถี่ให้ห่างได้ 3.ให้ผู้ประกอบการพิจารณาตัดรถเสริมในบางเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีระยะทางไกล 30-40 กม. ซึ่งใช้เวลาเดินรถ ไป-กลับนาน ทำให้เกิดการหมุนรถช้า ดังนั้นสามารถจัดรถเสริม วิ่งในระยะที่สั้นลงได้ โดยไม่ต้องวิ่งถึงปลายทาง แต่ให้วิ่งถึงกลางทางหรือในช่วงที่มีการให้บริการหนาแน่นได้ เพื่อนำรถกลับมาให้บริการในเส้นทางได้เพียงพอ

4.ให้ผู้ประกอบการสามารถหมุนเวียนรถได้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการผู้ใช้บริการ เช่น เส้นทางที่จำเป็นต้องใช้จำนวนรถมากกว่าปกติ และผู้โดยสารใช้บริการรถมาก สามารถนำรถในบางเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการน้อย หมุนเวียนมาให้บริการในเส้นทางที่ใช้บริการมากได้

 

 

 5.กรณีรถเมล์หายหลัง 20.00-21.00 น. นั้น ได้สั่งการให้ ขสมก. และรถร่วมเอกชนที่ให้บริการทุกเส้นทาง ต้องให้บริการช่วงเวลา 05.00-22.00 น. ส่วนในอดีตมีรถเมล์ให้บริการช่วงกลางคืน หลังให้บริการช่วงหลัง 22.00 น. จนถึงเวลา 02.00 น. ปัจจุบันมีจำนวน 21 เส้นทาง ยังคงให้บริการผู้โดยสารต่อไป ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการไปพิจารณาและรวมรวบความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการว่า เส้นทางไหนอีกบ้างที่ต้องการให้บริการตลอดคืน หากพบว่ามีผู้ประกอบการสามารถจัดเดินรถเพิ่มได้

 

ส่อง 6 แนวทาง \"กรมขนส่ง\" แก้ปัญหารถโดยสารขาดระยะ

 

6.ในช่วงที่อยู่ระหว่างการผลัดเปลี่ยนผู้ประกอบการรายใหม่ และอยู่ระหว่างการจัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการ บางเส้นทางที่รถไม่เพียงพอ ขบ. ได้ให้ ขสมก. จัดเดินรถทดแทนในเส้นทางนั้นๆ ไปก่อนที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะนำรถมาบรรจุในเส้นทางได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดผลกระทบผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หากปฏิรูปเส้นทางรถเมล์สมบูรณ์แล้ว อนาคต ขบ. จะกำหนดความต่อเวลาให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น รถเมล์ต้องให้บริการทุก 10 นาที ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวชี้วัด (KPI) แต่ละเส้นทาง ให้เกิดการประเมินผลให้บริการต่อไป

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า กรณีที่ขสมก.มีจำนวนรถโดยสารและจำนวนพนักงานขับรถโดยสารที่ไม่เพียงพอนั้น ทางขสมก.ต้องบริหารตามจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการรถโดยสารขาดช่วง หากมีการเพิ่มจำนวนรถโดยสารในแต่ละเส้นทาง ก็จำเป็นต้องเฉลี่ยพนักงานขับรถให้เพียงพอด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ

 

ส่อง 6 แนวทาง \"กรมขนส่ง\" แก้ปัญหารถโดยสารขาดระยะ

 

"การประชุมในครั้งนี้ทางขสมก.ได้มีการเสนอขอทบทวนแผนการขอจัดรถโดยสารเสริม ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมฯพิจารณาแล้วสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้เราไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนคนขับรถ แต่เป็นการเฉลี่ยจำนวนคนขับรถในบางเส้นทางต่างๆ เช่น บางเส้นทางที่อยู่ในเขตการเดินรถที่ 7 อาจมีจำนวนรถและพนักงานขับรถมากเกินกว่าจำนวนประชาชนที่ใช้บริการ มาช่วยเสริมบางเส้นทางที่มีการร้องเรียน โดยจะดำเนินการในเส้นทางที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการเต็มทั้งระบบ ทั้งนี้จะปรับปรุงแผนการเดินรถและหมุนเวียนการให้บริการรถโดยสารตามความต้องการของประชาชน ให้มีความเหมาะสม คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 15 วัน"