สนข.ถกสภาพัฒน์ ลุยแผน TOD บูมไฮสปีด-ทางคู่ 1.9 พันไร่

08 มิ.ย. 2565 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 21:45 น.

สนข.ซุ่มหารือสภาพัฒน์ เร่งอัพเกรดแผน TOD 3 จังหวัด 1.9 พันไร่ คาดได้ข้อสรุป 2 เดือน จ่อนำร่องขอนแก่น ยึดต้นแบบโครงการฯ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP

นายปัญญา  ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ปัจจุบันที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาของโครงการฯ เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาหารือแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน  

 

 

“ส่วนแผนพัฒนาดังกล่าวจะแล้วเสร็จเมื่อไรนั้น เราต้องให้สศช.พิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม หลังจากหารือกับสศช.แล้ว สนข.จะต้องรายงานต่อกระทรวงคมนาคมรับทราบ เบื้องต้นสนข.ได้หารือกับสศช.อยู่ว่าจะต้องเสนอเรื่องนี้ให้ใครพิจารณาอีกบ้าง เพราะแผนนี้จะต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนเข้ามารับผิดชอบด้วย”

 

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันสนข.ยังมีแผนจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) แต่ทางสศช.ให้ความเห็นว่ายังไม่ควรจัดทำพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะไม่อยากให้มีกฎหมายเยอะเกินไปควรใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ดำเนินการก่อน ซึ่งสนข.จะนำเรื่องนี้กลับมาทบทวนอีกครั้ง 
 

ทั้งนี้แผนพัฒนา TOD ยังเป็นแผนนำร่องทั้ง 3 จังหวัดตามเดิม ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น,จังหวัดชลบุรี,จังหวัดอยุธยา ขณะเดียวกันการดำเนินการพัฒนาโครงการฯ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่นั้นๆด้วย เช่น จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้ว ส่วนจังหวัดอยุธยานั้นอยู่ในช่วงระหว่างการหารือ เพราะติดปัญหาเรื่องมรดกโลก เบื้องต้นคาดว่าจะนำร่องโครงการที่จังหวัดขอนแก่นก่อนเพื่อเป็นต้นแบบโครงการฯ ปัจจุบันทางจังหวัดขอนแก่นอยู่ระหว่างหารือร่วมกันในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ TOD โดยรอบ ซึ่งจะต้องรอแผนแม่บทแล้วเสร็จก่อน คาดว่าจะเริ่มเห็นรายละเอียดโครงการที่จังหวัดขอนแก่นได้ภายในปี 2566 

 

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ตามหลักแล้วโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้คนในพื้นที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยงข้องต้องเข้ามารับผิดชอบค่อนข้างเยอะ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ ส่วนสนข.จะเป็นผู้ช่วยสนับสนุนโครงการฯ ให้เกิดขึ้นด้วย  

 

 

“แนวคิดโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ อย่าง คอมเมอร์เชียล ,สถานที่พักผ่อน,ศูนย์ประชุม โดยพื้นที่รอบๆนั้นไม่ควรมีพื้นที่รถจอดหรือคอนโดต่างๆ เพราะโครงการฯต้องการให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมเพื่อให้ประชาชนใช้บริการมากกว่า โดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเอกชนจะครองครองพื้นที่ได้เฉพาะพื้นที่รอบนอกโครงการเท่านั้น นอกจากนี้การประมูลจะใช้รูปแบบ PPP เพื่อดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ส่วนสัญญาสัมปทานกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆว่าเขาต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องศึกษาในเรื่องนี้ด้วย” 
 

สำหรับแผนศึกษา TOD ทั้ง 3 แห่ง พื้นที่รวม 1,943 ไร่ ประกอบด้วย 1.สถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่ 837 ไร่ เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สนข.ถกสภาพัฒน์ ลุยแผน TOD บูมไฮสปีด-ทางคู่ 1.9 พันไร่

 

2.สถานีรถไฟอยุธยา พื้นที่ 206 ไร่ เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา

 

 


 3.สถานีรถไฟพัทยา จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 900 ไร่ เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับชายทะเลพัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิม เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงโดยมีการปรับขนาดของ TOD ลง เพื่อให้เข้ากับสภาพมรดกท้องถิ่น