ยกเลิกเขตติดต่อโรคโควิดนอกราชอาณาจักร รองรับการเปิดประเทศ

07 มิ.ย. 2565 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 01:35 น.

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ไฟเขียวยกเลิกประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักร ชี้ สถานการณ์ดีขึ้นทั่วโลก รองรับไทยผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างประกาศยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" หลังแนวโน้มลดลงทั่วโลก ฉีดวัคซีนจำนวนมาก มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

 

ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม โดยนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาและเห็นชอบเรื่องสำคัญ คือ 

 

1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกอยู่ในแนวโน้มลดลง สายพันธุ์ โอมิครอนมีความรุนแรงลดลง และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก

 

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยคนไทยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนระบบ Thailand Pass เพียงแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนและผลตรวจ professional-ATK หรือ RT-PCR ก็พบว่า ผู้เดินทางเข้าประเทศวันละหลายหมื่นคน มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 น้อยมาก หรือบางวันไม่พบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเลย ถือว่า มีความปลอดภัย จึงนำมาสู่การเห็นชอบประกาศยกเลิกเขตโรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักร

ประเทศไทยเองสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเปิดภาคเรียน 3 สัปดาห์ และวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการผ่อนคลายมาตรการให้เปิดสถานบันเทิงในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 31 จังหวัด โดยต้องผ่านมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 plus และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

 

จนถึงวันนี้ยังไม่พบสถานการณ์การระบาดมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติของประชาชน โดยดำเนินการตามมาตรการ "2U" คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยให้กลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และโรคเรื้อรังรับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และมาตรการ 3 พอ คือ เตียงพอ หมอพอ และยาเวชภัณฑ์พอ 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในสถานบริการ ผับบาร์ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคทั่วราชอาณาจักร โดยกำหนดให้เปิดบริการ จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น. งดบริการเครื่องดื่มที่ใช้แก้วร่วมกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการให้บริการที่มีการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้าจะต้องสวมหน้ากาก โดยมาตรการสำหรับผู้ให้บริการ พนักงาน นักร้อง นักดนตรี ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ ตรวจคัดกรองความเสี่ยงทุกวัน ตรวจ ATK ทุก 7 วัน และเมื่อมีอาการหรือความเสี่ยง ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) ส่วนลูกค้าต้องแสดงหลักฐานรับวัคซีนเข็มกระตุ้นครบตามเกณฑ์ ปฏิบัติตามมาตรการ UP เช่นกัน และกลุ่มเสี่ยง 608 ยังแนะนำให้งดหรือเลี่ยงการเข้ารับบริการ

 

สำหรับสถานประกอบการต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID 2 Plus ซึ่งทั่วประเทศสถานบันเทิงที่ลงทะเบียน 760 แห่ง จากทั้งหมด 2,890 แห่ง ผ่านการประเมิน 100% เช่นเดียวกับสถานบันเทิงในพื้นที่เฝ้าระวังและนำร่องท่องเที่ยวที่มีการลงทะเบียน 688 แห่ง จากทั้งหมด 2,135 แห่ง ผ่านการประเมิน 100% เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ยังต้องทำตามมาตรการ COVID Free Setting จัดพื้นที่บริการมีระยะห่างระหว่างโต๊ะอย่างน้อย 1 เมตร มีการระบายอากาศที่เพียงพอ กรณีเป็นอาคารปิดและใช้เครื่องปรับอากาศควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา อาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศตามความเหมาะสม และจัดให้มีการตรวจสอบผู้รับบริการว่ารับวัคซีนครบถ้วน

 

ขณะที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. มีการติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้งทีมตรวจประเมิน ให้คำแนะนำ ตักเตือนสถานบริการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคและมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานข้อมูลทะเบียนรายชื่อสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด กับปกครองจังหวัดและ อปท.พื้นที่ จัดทำแผนสุ่มเฝ้าระวังสถานบริการในพื้นที่ทุกสัปดาห์ และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และกระทรวงสาธารณสุข