ปลดล็อก "ชุดลูกเสือ เนตรนารี" ลดภาระค่าครองชีพพุ่ง 

07 มิ.ย. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 05:16 น.
5.1 k

ปลดล็อก "ชุดลูกเสือ เนตรนารี" รมว.ศึกษาธิการ เผย มอบหมาย สพฐ. กำชับ สพท. ให้โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ยืดหยุ่นไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ มีแค่สัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็น ลูกเสือ เนตรนารี ได้

หลังโลกโซเชียลแห่แชร์ราคาค่าชุดลูกเสือของผู้ปกครองรายหนึ่งโดยระบุว่า แบกรับค่าใช้จ่ายชุดไม่ไหวจนเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ตามมานั้น ล่าสุดนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มาโดยตลอด และมีมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้สื่อสารไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ

 

ขอให้โรงเรียนอนุโลม กรณีนักเรียนรายใดไม่มีความพร้อม ขอให้ยืดหยุ่นไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ เช่น เรื่องเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี เพียงแค่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นลูกเสือ เนตรนารี อาทิ ผูกผ้าพันคอแสดงสัญลักษณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้ย้ำไปยังสถานศึกษาทุกแห่งแล้วแต่ครั้งนี้จะกำชับสื่อสารทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่า สิ่งใดที่ไม่จำเป็นและจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง ขอให้สถานศึกษายืดหยุ่นการจัดการเรียนการสอนในบางวิชา

 

"ที่ผ่านมาได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่สถานศึกษาได้รับทราบถึงแนวปฏิบัตินี้แล้ว โดยบางวิชาอย่าง เช่น วิชาลูกเสือ ที่ต้องมีการแต่งเครื่องแบบก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการแต่งเครื่องแบบครบแต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ" นางสาวตรีนุช กล่าวและว่า 

กรณีนี้ทางกระทรวงฯได้ออกระเบียบเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองตั้งแต่ ปี 2564 โดยไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องสวมใส่ชุดลูกเสือเต็มรูปแบบ เพียงแต่อาจจะสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

 

ขณะเดียวกันเตรียมของบเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และพยายามที่จะมาตรการดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม สำหรับชุดลูกเสือถูกจัดอยู่ในโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ในหมวดเครื่องแบบนักเรียน โดย ศธ. จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาดำเนินการจัดทำบัญชีจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนตามเกณฑ์ค่าใช้จ่ายรายหัว โดยผู้ปกครองและนักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนด้วยตนเอง

 

ขณะที่ในส่วนวิชาลูกเสือ ถือเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ปลูกฝังวินัยให้แก่ผู้เรียน และสร้างจิตอาสาการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม อย่างไรก็ดี ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราอาจจะต้องปรับกิจกรรมการเรียนวิชาลูกเสือ ให้มีความยืดหยุ่นและมีความทันสมัยมากขึ้น