“อลงกรณ์” จ่อชง “ฟรุ้ทบอร์ด” ช่วยชาวสวนลำไยจากพิษโควิด

06 มิ.ย. 2565 | 21:02 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 04:13 น.
792

“อลงกรณ์” ปักหมุดตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่จันทบุรี เล็งนำระบบประมูลซื้อขายผลไม้แบบออนไลน์มาใช้ทั่วประเทศ พร้อมชง “ฟรุ้ทบอร์ด” ออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนลำไย จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19

วันนี้ 6 มิ.ย.2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และคณะเดินทางไปปฏิบัติราชการติดตามงานด้านการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 และเยี่ยมภาคีเครือข่ายชาวนาเกลือ ณ จังหวัดจันทบุรี 

 

ในโอกาสนี้ นายอลงกรณ์ ได้เป็นประธานการประชุมเฉพาะกิจแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 และมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา

 

ณ ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดจันทบุรี และระบบออนไลน์ ZOOM cloud meeting ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อที่รับทราบถึงสถานการณ์การผลิต – การตลาด – การขนส่ง และปัญหาอุปสรรค ของผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และความก้าวหน้าในการพัฒนาสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และปัญหา อุปสรรค ตามมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่ได้รับผลกระทบในฤดูกาลที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวสวนลำไย เสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือ กรณีได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในฤดูกาลที่ผ่านมา

 

จ่อชง “ฟรุ้ทบอร์ด” ช่วยชาวสวนลำไยจากพิษโควิด

 

โดยเกษตรกร ขอให้รัฐบาลเยียวยาไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่ การยกเว้นดอกเบี้ยธนาคาร การลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าว จะถูกนำเสนอประกอบการพิจารณามติให้ความช่วยเหลือชาวสวนลำไย ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในการประชุมครั้งต่อไป

 

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อน"โครงการมหานครผลไม้" จะเร่งจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการผลไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด โดยจะใช้พื้นที่ราชพัสดุที่ตำบลวังโตนด

 

เนื่องจากผลไม้ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ถือเป็น Fruit Economy ในมุมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ จึงต้องพัฒนาตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาด

 

รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ผลไม้ นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ใช้ระบบการประมูลซื้อขายผลไม้แบบออนไลน์และออนไซท์ เพื่อพัฒนาระบบการค้าผลไม้ด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ทันต่อฤดูกาลผลิตผลไม้ปีหน้า

 

จ่อชง “ฟรุ้ทบอร์ด” ช่วยชาวสวนลำไยจากพิษโควิด

 

ขณะที่ในช่วงบ่าย เป็นการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย การมอบใบรับรอง GAP นาเกลือรายแรกของจันทบุรี และการตรวจเยี่ยมแปลงนาเกลือ ในอำเภอท่าใหม่ รวมทั้งการลงพื้นที่สวนทุเรียน มังคุด เงาะ ที่ใช้ขี้แดดเกลือ ทดแทนการใช้ปุ๋ย