สุดเข้ม รฟม.เปิดเกณฑ์ทีโออาร์ “สายสีส้ม” รอบใหม่ 1.4 แสนล้าน

01 มิ.ย. 2565 | 16:12 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 23:20 น.

รฟม.เปิดเกณฑ์ทีโออาร์ ประมูลสายสีส้ม 1.4 แสนล้านตั้งข้อเสนอเทคนิค90คะแนน หากไม่ผ่านปัดตกข้อเสนอราคา ฟากบีทีเอสลุยซื้อซองประมูล ยันเกณฑ์สูงกว่าโครงการอื่น

จากกระแสร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาของโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ทีโออาร์กลางอากาศเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนน และเกณฑ์ด้านผลตอบแทนการลงทุน 70 คะแนน ทำให้บิ๊กเอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้วนั้นเชื่อว่าเป็นการประมูลที่ไม่โปร่งใส จนเป็นชนวนให้เอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงการส่อฮั้วประมูลโครงการฯของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จนลากยาวมาเกือบปีกว่า

 

 

ที่ผ่านมาเกณฑ์การพิจารณาที่กลายเป็นประเด็นนั้นมีเนื้อหาที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่า เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ตามข้อ 29.3 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 ต่อไป โดยการประเมินข้อเสนอจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน ทั้งนี้ รฟม.จะนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด จะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ซึ่งเป็นที่น่าจับตาถึงเกณฑ์นี้มีความแตกต่างจากโครงการฯอื่นๆอย่างสุดขั้ว

 

 

ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม.ได้ฤกษ์ออกประกาศเชิญชวนบรรดาเอกชนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท อีกครั้ง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost)

ขณะเดียวกันเกณฑ์การประมูลโครงการฯ รอบใหม่ในครั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้กลับมาใช้เกณฑ์ทีโออาร์เดิมที่เคยใช้ในการประมูลหลายโครงการฯยักษ์ใหญ่ในไทย แต่ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเกณฑ์การประมูลนี้มีความเข้มข้นกว่าเกณฑ์อื่นๆที่ผ่านมา โดยเกณฑ์การพิจารณาการคัดเลือกและวิธีการตัดสินข้อเสนอ แบ่งเป็น 4 ซอง ประกอบด้วย 1.ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จะเป็นการประเมินแบบผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งต้องมีความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารตามเอกสาร RFP 2.ข้อเสนอด้านเทคนิค 100 คะแนน แบ่งเป็น 4 หมวด โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนดำเนินงาน 10 คะแนน,แนวทางวิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา 50 คะแนน,แนวทางวิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบไฟฟ้า 10 คะแนน,แนวทางวิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา 30 คะแนน โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้คะแนนประเมินแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 85 คะแนน และได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่า 90 คะแนนของคะแนนรวมทั้งหมด 3.ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะพิจารณาจากบัญชีปริมาณงาน,แผนธุรกิจและแผนการเงิน รวมทั้งตารางผลตอบแทนที่ให้แก่รฟม.โดยผู้ที่ยื่นข้อเสนอมี ผลประโยชน์สุทธิ (NPV) สูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด 4.ข้อเสนออื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของรฟม. จะมีการพิจารณาต่อเมื่อผู้ยื่นข้อเสนอเป้นผู้ชนะการคัดเลือกเท่านั้น

 

 

นอกจากนี้ในเอกสารประกาศเชิญชวนยังระบุอีกว่ารฟม.จะขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ราคา 100,000 บาทต่อชุด โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้กับรฟม.จำนวน 1,000,000 บาท ในวันที่ยื่นซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน รวมทั้งผู้ที่ชนะการคัดเลือกต้องชำระค่ะรรมเนียมการลงนามสัญญาร่วมลงทุนอีกจำนวน 1,000,000 บาท ณ วันที่ลงนามสัญญา ขณะเดียวกันผู้ยื่นข้อเสนอต้องวางหลักประกันซองพร้อมกับการยื่นซองเอกสารข้อเสนอมูลค่า 2,000 ล้านบาท โดยรฟม.จะคืนหลักประกันซองให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่ได้รับการคัดเลือกภายใน 10 วัน และจะคืนหลักประกันซองให้กับผู้ชนะการประมูล หลังจากผู้ยื่นข้อเสนอได้ลงนามสัญญาพร้อมยื่นหลักประกันสัญญาเรียบร้อยแล้ว

 

 

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวถึงกรณีที่รฟม.ประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนเพื่อประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างดูประกาศรายละเอียดอยู่ คาดว่าจะเข้าร่วมในการซื้อซองประมูล เพื่อมาศึกษาดูรายละเอียดก่อน เพราะทราบว่าทางรฟม.มีการประกาศถึงวันที่ 10 มิถุนายนนี้

 

 

"ส่วนกรณีที่รฟม.ตั้งเกณฑ์การประมูลด้านเทคนิค 90 คะแนน หากคะแนนไม่ถึงจะไม่เปิดข้อเสนอด้านราคาและผลตอบแทนนั้น ยอมรับว่าเป็นเกณฑ์ที่สูงมาก เพราะโครงการอื่นๆไม่ได้ตั้งเกณฑ์การประมูลสูงขนาดนี้ ทั้งนี้เราต้องขอดูทีโออาร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร"

สำหรับระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน 1. 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี และระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก

 

 

ส่วนไทม์ไลน์การประมูลในครั้งนี้ รฟม.เริ่มประกาศขายเอกสารการประกวดราคาตั้งแต่ 27 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2565 และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนสิงหาคม 2565 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2565 เปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2570

สุดเข้ม รฟม.เปิดเกณฑ์ทีโออาร์ “สายสีส้ม” รอบใหม่ 1.4 แสนล้าน

 

 

 อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)