ชัยวุฒิย้ำ PDPA มุ่งคุ้มครองสิทธิ์ถ่ายรูป-โพสต์ต้องไม่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น

31 พ.ค. 2565 | 17:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 00:23 น.

“ชัยวุฒิ” ย้ำเจตนากฎหมาย PDPA มุ่งคุ้มครองข้อมูล-สิทธิ์ ปชช. แจงปมถ่ายรูป-โพสต์รูป หากไม่เสื่อมเสีย-ละเมิดสิทธิทำได้ ขอ ปชช.อย่ากังวล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.65 นี้ จะเป็นวันสำคัญที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ) หรือที่เรียกกันว่า PDPA ซึ่งย่อมาจาก Personal Data Protection Act จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ที่ใช้ติดต่อธุรกิจ ติดต่อร้านค้าต่าง ๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม

หรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ในการทำธุรกรรม ที่เดิมอาจมีกิจการอื่น เช่น บริษัทประกันภัยชีวิต ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ นำข้อมูลของเราเหล่านี้มาใช้ในเชิงธุรกิจ หรือติดต่อเพื่อเสนอสินค้าบริการให้กับเรา

 

 

โดยที่เราไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ร้านค้าหรือธุรกิจที่เก็บข้อมูลของเรา จะต้องเก็บให้ดี ห้ามรั่วไหล หรือห้ามเอาไปขาย หรือเอาไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งอันนี้มีความผิดตามกฎหมายนี้

“ประชาชนก็จะมีสิทธิ์ในข้อมูลของตัวเอง ถ้าท่านไม่ให้ความยินยอมร้านค้า หรือธุรกิจที่เอาข้อมูลของท่านไป จะเอาข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์จริงๆในการคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเพื่อให้มีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับกิจการร้านค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น” นายชัยวุฒิกล่าว

ส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ PDPA ในส่วนของเรื่องการถ่ายภาพ หรือโพสต์ภาพนั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การที่เราไปถ่ายภาพแล้วไปติดบุคคลอื่นเข้ามาในภาพ ซึ่งเราไม่รู้จักแล้วติดโดยบังเอิญ อันนี้ไม่มีความผิด แม้ว่าเราจะเอาภาพนั้นไปโพสต์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่ได้ไปทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเกิดความเสื่อมเสีย ไม่มีความผิด อันนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม PDPA  รวมไปถึงกรณีกล้องวงจรปิดที่เราติดไว้ที่บ้าน แล้วไปติดภาพของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าเราไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นข้อมูลที่เราเก็บไว้เพื่อป้องกันอาชญากรรมก็ไม่มีความผิด ในทางกลับกัน หากข้อมูลของท่านมีการรั่วไหล มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ท่านสามารถร้องเรียนได้ตามกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้ดังกล่าว

“กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกย่อๆ ว่า PDPA มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสารของท่าน ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของท่านได้รับความคุ้มครอง ไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งจะไปเอาผิด หรือลงโทษใคร เพราะฉะนั้นไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ เพราะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคนแน่นอน”