ภาษีที่ดินเกษตรกรรมจ่ายน้อย เช็คชนิดสัตว์ พื้นที่เพาะเลี้ยง

26 พ.ค. 2565 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 20:14 น.
4.4 k

มาเช็คกันว่า เสียภาษีที่ดินน้อย นอกจากปลูกพืช 51 ชนิดเเล้ว จะต้อง เลี้ยงสัตว์กี่ชนิด เเละพื้นที่เพาะเลี้ยงต้องเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ที่ดิน 1ไร่ ปลูกกล้วยกี่ต้น ต้นไม้อะไรบ้าง เสีย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ต่ำ

หลัง ปี 2565 นี้ กระทรวงการคลังพิจารณาจัดเก็บภาษีดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นปีแรก หลังจากที่ปรับลดมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว เนื่องจากการลดภาษีในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นภาระทางการคลัง แต่การจัดเก็บยังคงเก็บอัตราเดิมตามฐานของปี 2563-2564 ไปถึงปี 2566

มาครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ที่ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่เกษตรกรรม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และในกรณีการประกอบการเกษตรที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้องลักษณะอย่างไร เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม เพื่อการเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้

สัตว์ 9 ชนิด

  • โค ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่
  • กระบือโตเต็มวัย ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่
  • แพะ-แกะโตเต็มวัย ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อไร่
  • สุกร พ่อพันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว แม่พันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรอนุบาล ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรขุน ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว คอกคลอด ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว ซองอุ้มท้อง ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว
  • สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์)
  • กวาง 2 ไร่ต่อตัว
  • หมูป่า 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน) 0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย)
  • ผึ้ง บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ำหวานดอกไม้ที่สมดุล กับจำนวนรังผึ้ง
  • จิ้งหรีด บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสม กับขนาดและจำนวนบ่อ

 

การประกอบการเกษตรที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีลักษณะดังต่อไปนี้ 

  • พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะอื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบำบัดน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ