กรมชลฯประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง หลัง "เขื่อนเจ้าพระยา" เพิ่มการระบายน้ำ

24 พ.ค. 2565 | 20:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 03:21 น.

กรมชลประทานประสานผู้ว่าฯ 7 จังหวัดภาคกลาง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ส่งผลระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น 50-70 ซม. ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา  นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง และผู้เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือ ส่งผลทำให้ระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับที่สูงขึ้น

 

ในการพิจารณาถึงการจัดการน้ำและความมั่นคงของเขื่อน จึงจำเป็นต้องให้น้ำระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-70 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าตลิ่ง

 

ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำดังกล่าวแล้ว

กรมชลฯประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง หลัง \"เขื่อนเจ้าพระยา\" เพิ่มการระบายน้ำ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะทุกสำนักงานชลประทาน ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดพร้อมดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด

 

บริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบสภาพของอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

กรมชลฯประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง หลัง \"เขื่อนเจ้าพระยา\" เพิ่มการระบายน้ำ

ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน (23 พ.ค. 65) แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 778 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที)

 

สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 56 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 591 ลบ.ม./วินาที  

 

อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 600 – 700 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณ ต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 

 

ทั้งนี้กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประขาชนให้ได้มากที่สุด