กรมชลฯกางมาสเตอร์แพลนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน จ.เลย

19 พ.ค. 2565 | 09:22 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 16:22 น.

กรมชลฯกางมาสเตอร์แพลนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน จ.เลย เดินหน้าพัฒนา 90 โครงการที่เหมาะสม ภายใต้แผน 20 ปี สู่เป้าหมายการกักเก็บน้ำ 145.805 ล้านลบ.ม.

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำน้ำหมัน จ.เลย โดยล่าสุดได้นำเสนอขั้นตอนการดำเนินงานจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำ (Master Plan) รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

 

ซึ่งการพัฒนาโครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับภาคเกษตร และบรรเทาอุทกภัย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม อีกทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม 

 

โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการที่จะสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นในแผนการพัฒนาลุ่มน้ำ ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
 

ทั้งนี้จากผลการศึกษาความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำหมัน มีพื้นที่ครอบคลุม 64 หมู่บ้าน ใน 11 ตำบล 4 อำเภอ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ อ.ด่านซ้าย และอ.นาแห้ว จ.เลย รวมถึง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก  จำนวนประชากร 38,248 คน คิดเป็น 13,861 หลังคาเรือน 

 

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความต้องการใช้น้ำรวม 93.72 ล้านลบ.ม./ปี แบ่งเป็น เขตลุ่มน้ำน้ำหมันตอนบน 36.40 ล้านลบ.ม./ปี และเขตลุ่มน้ำน้ำหมันตอนล่าง 57.32 ล้านลบ.ม./ปี   มีสัดส่วนใช้น้ำที่แบ่งเป็น  ภาคการเกษตร 92.46 ล้านลบ.ม./ปี, ภาคการอุปโภค-บริโภค 0.89 ล้านลบ.ม./ปี ภาคอุตสาหกรรม  0.046 ล้านลบ.ม./ปี ภาคการท่องเที่ยว 0.07 ล้านลบ.ม./ปี และภาคปศุสัตว์ 0.25 ล้านลบ.ม./ปี

 

กรมชลฯกางมาสเตอร์แพลนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน

 

ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำหมันเป็นแนวเขาสูงเกือบตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำ และมีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ลุ่มน้ำ ในช่วงมรสุมที่มีปริมาณฝนเป็นจำนวนมาก จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากสร้างความเสียหายให้กับชุมชน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่อ.ด่านซ้าย ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันมาอย่างต่อเนื่อง 
 

ขณะที่ฤดูแล้ง มักเกิดปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องในทุกๆปี เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ที่สนับสนุนการทำการเกษตร  คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณปีละ 800,000 บาท


อย่างไรก็ดี กรมชลประทานได้มีการรวบรวมผลความเสียหายที่เกิดขึ้น ของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่า ในปี 2561 อ.ด่านซ้ายได้รับผลกระทบด้านพืชผลทางการเกษตรเสียหายสูงสุด มีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนถึง 924 ราย

 

เป็นพื้นที่พืชไร่ จำนวนทั้งสิ้น 390.50 ไร่ พื้นที่นาข้าวเสียหาย 2,358 ไร่ และพืชส่วนเสียหาย 21.25 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ในปี 2562 เกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย 15 ราย ประมงเสียหาย 57 ราย  

 

ดังนั้นจากการศึกษาและความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโครงการลุ่มน้ำน้ำหมัน จ.เลย  เป็นผลมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่  ที่ต้องการให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และป้องกันความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีเป้าหมายต้องพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งสิ้น 90 โครงการ

 

มีขีดความสามารถกักเก็บน้ำทั้งสิ้น 145.805 ล้านลบ.ม.  ภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 9,554.640 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี  แบ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จำนวน 39 โครงการ  และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 51 โครงการ

 

กรมชลฯกางมาสเตอร์แพลนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน

 

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ แผนระยะสั้น ปีที่ 1-5 เป็นโครงการที่มีความสำคัญสูงสุดและต้องพัฒนาเร่งด่วน จำนวน 5 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 1,150 ล้านบาท เก็บกักน้ำได้ 1.10 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 7,485 ไร่ คิดเป็น 3.92% ของพื้นที่ทำการเกษตรในลุ่มน้ำน้ำหมัน

 

แผนระยะกลาง ปีที่ 6-10 เป็นระยะที่เริ่มดำเนินการโครงการเต็มศักยภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ จำนวน 10 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 4,306.080 ล้านบาท เก็บกักน้ำได้ 86.495 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ขึ้นอีก 49,607 ไร่ รวมเป็น  57,092  คิดเป็น 29.90% ของพื้นที่ทำการเกษตรในลุ่มน้ำน้ำหมัน

 

แผนระยะยาว ปีที่ 11-20 เป็นระยะเวลาที่ดำเนินการพัฒนาโครงการที่มีลำดับความสำคัญรองลงมา จำนวน 24 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 3,525.26 ล้านบาท เก็บกักน้ำได้ 55.53 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 38,080 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49.85% ของพื้นที่ทำการเกษตรในลุ่มน้ำหมัน

 

เมื่อพัฒนาโครงการตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำน้ำหมัน อีก 20 ปี ข้างหน้า จะสามารถลดความเสี่ยงของปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของลุ่มน้ำ โดยการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่สภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น และมีแหล่งอาหารที่สามารถส่งออกสู่ตลาดภูมิภาคได้มากขึ้น