10 มาตรการลดค่าครองชีพ ที่รัฐบาลเตรียมต่ออายุมีอะไร ใครได้บ้าง

25 พ.ค. 2565 | 05:25 น.
897

เช็คข้อมูลมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล หลังรองนายกรัฐมนตรี เล็งพิจารณาต่ออายุมาตรการ เตรียมเรียกหน่วยงานเศรษฐกิจเข้ามาหารือ ไปเช็คข้อมูลกันว่า มาตรการทั้ง 10 มีมาตรการอะไร มาตรการไหนอาจได้ไปต่อบ้าง

มาตรการลดค่าครองชีพ ของรัฐบาล ล่าสุด ซึ่งจะสิ้นสุดอายุในเดือนกรกฎาคม นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะขยายอายุออกไปอีกครั้ง หลังจากรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ยอมรับว่า เตรียมนัดหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจมาหารือถึงเรื่องนี้ เพื่อพิจารณาต่ออายุมาตรการ หรือหามาตรการอื่น ๆ มาเพิ่มเติม

 

โดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะมาร่วมวงถกมาตรการลดค่าครองชีพ ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนัดมาหารือกันในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 นี้ ก่อนจะตัดสินใจต่ออายุมาตรการ หรือเคาะมาตรการใหม่ให้ต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่กำลังหมดอายุ

สำหรับมาตรการเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งก่อน มีดังนี้

  1. ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/ 3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  2. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
  3. ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน
  4. ตรึงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก.
  5. ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  6. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไว้ที่ 30 บาท/ลิตร
  7. ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT เป็นเวลา 4 เดือน
  8. นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้รับการลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. 
  9. ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% หรือจาก 432 บาทต่อเดือน ลดเหลือ จำนวน 91 บาทต่อเดือน ในงวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565
  10. เกษตรกร 9 ล้านคน จะได้รับประโยขน์จากการแก้ปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาด และแก้ปัญหาอาหารสัตว์

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

  • เมษายน – กรกฎาคม 2565

 

กลุ่มที่ได้ประโยชน์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มครัวเรือนทั่วไป 
  2. กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตน
  3. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
  4. กลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ 

 

วงเงินและแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการทั้งหมด 80,247 ล้านบาท แยกเป็นดังนี้

  • เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท สัดส่วน 49%
  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท สัดส่วน 44%
  • งบกลาง สำนักงบประมาณ 3,740 ล้านบาท 5%
  • เงินจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท สัดส่วน 2%